"บิ๊กตู่" ร่วมประชุมศบค.ชุดใหญ่วันนี้ ถกขยายล็อกดาวน์อีก 14 วัน หลังตัวเลขโควิดยังพุ่งทะลุหลัก 2 หมื่นราย พร้อมทบทวนแผนฉีดวัคซีน - เปิด 3 บริการในห้างสรรพสินค้าตามข้อเรียกร้องเอกชน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การประชุมศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธานในวันนี้ (16 ส.ค.64) มีวาระพิจารณาแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 การประเมินผลการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ คาดว่าที่ประชุม ศบค. จะพิจารณาให้จะขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ออกไปอีก 14 วัน หรือ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564
ทั้งนี้ต้องจับตาว่า ที่ประชุมศบค.จะผ่อนคลายตามข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอเข้ามาให้พิจารณาหรือไม่ เช่น สมาคมศูนย์การค้าไทยเสนอให้ ศบค.ทบทวนการผ่อนปรนการให้บริการ 3 ธุรกิจในศูนย์การค้า ได้แก่ ธนาคารและสถาบันการเงิน ธุรกิจสื่อสารและไอที และ ร้านเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นและเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงบางกิจการที่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ เช่น จังหวัดเชียงใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• สธ. คาด หากไม่ล็อกดาวน์ ยอดติดเชื้อโควิด 19 อาจพุ่ง 4 หมื่นรายต่อวัน
• นายกฯ หารือ การบริหารจัดการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด - 19 อาจล็อกดาวน์เข็มขึ้น
• "หมอธีระ" แนะรัฐใช้มาตรการเข้มคุมโควิด ล็อกดาวน์ทั้งประเทศเป็นสิ่งจำเป็น
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค .ยังจะพิจารณามาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) และโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ที่เป็นการบูรณการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานกล่าวว่า มาตรการ Factory sandbox จะโฟกัสไปที่โรงงานส่งออก ตรวจเชิงรุก 100 % แยกคนป่วย แยกปลาแยกน้ำ ฉีดวัคซีนให้ครบ 100 % เพื่อรักษาการจ้างงานและดำเนินธุรกิจส่งออกต่อได้ ภาคส่งออกเดินได้ต่อไป คาดว่า ถ้าที่ประชุมเห็นชอบจะเริ่มมาตรการได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้
ทั้งนี้ ได้ผ่านการหารือกับหน่วยที่เกี่ยวข้องครบหมดแล้ว ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย ขณะนี้มีบริษัทส่งออกขนาดใหญ่ให้ความสนใจจำนวนมาก โดยจะเริ่มจากอุตสาหกรรมส่งออก 4 สาขา ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์
นายสุชาติกล่าวว่า เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เป็นการตรวจ รักษา ควบคุมและดูแล โดยเข้าไปตรวจ RT-PCR ในโรงงาน 100 % แยกคนติดเชื้อออกจากโรงงานและเข้าสู่ระบบรักษาในโรงพยาบาลในเครือประกันสังคม หลังจากนั้นรัฐบาลจะจัดสรรฉีดวัคซีนฉีดให้ครบ 100 %
ต่อจากนั้นให้ผู้ประกอบการจัดซื้อชุดตรวจ ATK พนักงานในโรงงานทุกสัปดาห์ และต้องควบคุมเส้นทางการเดินทางจากโรงงานไปที่พัก-ที่พักไปโรงงาน หรือ bubble and seal หากผู้ประกอบการปฏิบัติได้ตามมาตรการทุกข้อจะให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกใบ Certificate ให้โรงงานไว้สำหรับยืนยันกับต่างประเทศ เพื่อรับรองว่าโรงงานแห่งนี้ปลอดเชื้อโควิดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น
โดยจะเริ่มจากอุตสาหกรรมส่งออก 4 สาขา ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ สำหรับจังหวัดนำร่องคือ ปทุมธานีและนนทบุรี โดยจะเริ่มอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 16 สิงหาคมหรืออย่างช้าปลายเดือนสิงหาคม
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุต่อไปว่า ที่ประชุมศบค.จะพิจารณามาตรการควบคุมสาหรับการเดินทางเข้าออกทางน้ำเฉพาะกรณีเรือที่ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม ภารกิจอื่นใดบนยานพาหนะหรือสิ่งปลูกสร้างในทะเล
ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเสนอให้ที่ประชุมศบค.พิจารณาการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเชื่อมต่อจังหวัดนำร่องอื่น (7+7)
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจ (ศบศ.) กล่าวว่า ททท. อยู่ระหว่างนำเสนอ ศบค. ถึงแนวทางการให้นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่นในลักษณะ 7+7
โดยจากเดิมที่นักท่องเที่ยวต้องพำนักภายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 14 วัน จะปรับลดเป็น 7 วัน จึงสามารถเดินทางท่องเที่ยวและพำนักในพื้นที่นำร่องจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7 วัน จากนั้นจึงจะสามารถเดินทางไปที่อื่นทั่วประเทศไทยต่อไปได้ ถือเป็นการขยายพื้นที่ของ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ให้ใหญ่ขึ้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
นายธนกรกล่าวว่า โดยในส่วนของพื้นที่นำร่องที่เชื่อมโยงจังหวัดภูเก็ตในลักษณะ 7+7 ได้แก่
1.เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
2.เขาหลัก เกาะยาวใหญ่ และเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา
3.เกาะพีพี ไร่เลย์ และเกาะไหง จังหวัดกระบี่
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของ ศบค. และข้อกำหนดตามมาตรการของแต่ละจังหวัด เชื่อว่าจากนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่เป็น High Season ของการท่องเที่ยว
ดังนั้น ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นและช่วยกันเป็นหูเป็นตา เป็นเจ้าบ้านที่ดี ดูแลพื้นที่ ดูแลนักท่องเที่ยวให้เกิดความประทับใจ ร่วมกันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดภูเก็ตให้สมกับที่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก