ราชกิจจานุเบกษา ประกาศข้อกำหนด "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ฉบับที่ 30 ขยายมาตรการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว จำกัดการเดินทาง 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ถึง 31 ส.ค.
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมพ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 13 จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 นั้น
โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยังคงทวีความรุนแรง โดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์ชนิดสายพันธุ์เดลตา ที่เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายและติดต่อโรคกันได้โดยง่าย ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยฝ่ายสาธารณสุขได้รายงานผลการประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่แสดงผลว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูงเพิ่มมากขึ้น หากมิได้ดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางและการรวมกลุ่มของบุคคลอย่างรัดกุม มีประสิทธิภาพเพียงพอแม้ปรากฏว่าผู้ติดเชื้อที่หายป่วยหรืออาการดีขึ้นจนออกจากโรงพยาบาลได้ในแต่ละวันมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• Breaking News: ศบค.ขยายล็อกดาวน์ต่อ 1 เดือน เพิ่มพื้นที่แดงเข้ม 29 จังหวัด
• จับตา! จ่อยืด “ล็อกดาวน์” จังหวัดแดงเข้มไม่มีกำหนด หลังติดเชื้อพุ่งไม่หยุด
• สธ. คาด หากไม่ล็อกดาวน์ ยอดติดเชื้อโควิด 19 อาจพุ่ง 4 หมื่นรายต่อวัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องบังคับใช้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติต่าง ๆอย่างเข้มงวดกวดขันเพื่อการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องออกไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง และยกระดับบางมาตรการเพื่อให้การควบคุมการระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันมิให้การระบาดเพิ่มความรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน โดยปิดสถานที่ก่อสร้างและบริเวณที่พักอาศัยชั่วคราว สำหรับคนงาน ตลอดจนได้มีการกำหนดมาตรการปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงบางกรณีเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งผลการดำเนินการในช่วงเวลาที่ผ่านมาปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงสถานที่พักคนงานและการสุขาภิบาลให้ถูกสุขลักษณะ การปรับปรุงสถานประกอบกิจการและเตรียมมาตรการด้านป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งการกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการที่ทางราชการกำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงสมควรปรับการบังคับใช้บางมาตรการต่อกลุ่มบุคคล สถานที่ และกิจการ ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังคงให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและกำกับติดตามการป้องกันและควบคุมโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์ก่รแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัด จำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
สำหรับจังหวัดที่ได้ปรับระดับเขตพื้นที่สถานการณ์ขึ้นใหม่ตามคำสั่งที่ออกตามข้อกำหนดนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเพื่อการดำเนินการตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติต่าง ๆ เป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะบรรดาจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ข้อ ๒ การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อการชะลอและลดแนวโน้มความรุนแรงของการระบาดที่จะเกิดขึ้นจากการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุขซึ่งเห็นสมควรให้ดำเนินมาตรการเพื่อมุ่งจำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลต่อเนื่องไป จึงกำหนดให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๘) ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้แก่ การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทาง การห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๔.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น การขนส่งสาธารณะ การปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน และมาตรการควบคุมบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงรวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องออกไป สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ข้อ ๓ การปรับเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทางในเขต
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) กรุงเทพมหานคร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนาคมข้ามเขตจังหวัด และการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่น เพื่อการตรวจคัดกรอง ชะลอ หรือสกัดกั้นการเดินทางของบุคคล โดยให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กำหนด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และแนวปฏิบัติ รวมทั้งการพิจารณากรณีหรือบุคคลที่ได้รับยกเว้น ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ ๕ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๘)
ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และนำกรณีตามข้อ ๓ ข้อ และข้อ ๕ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ มาใช้พิจารณาเป็นกรณียกเว้นด้วยโดยอนุโลม
ข้อ ๔ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดจำนวนบุคคลจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้
(๑) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน
(๒) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบคน
(๓) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน
(๔) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยคน
(๕) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบคน
กิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่เคยได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้ตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ เมื่อข้อกำหนดนี้ได้มีการปรับระดับมาตรการในเรื่องจำนวนบุคคลให้เข้มงวดขึ้น ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดำเนินการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนดให้ ศปม. พิจารณามาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อการเข้าระงับยับยั้ง การตรวจสอบ การยุติการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อ การแพร่ระบาดของโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประชาชนอื่นทั่วไป โดยให้เร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็ว
ข้อ ๕ กิจกรรมที่ได้รับยกเว้น กิจกรรมหรือการรวมกลุ่มของบุคคลดังต่อไปนี้สามารถจัดได้
โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๔ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(๑) กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชนเพื่อเดินทางไปหรือออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือสถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก
(๒) กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข
(๓) กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยประโยชน์หรือ ความสะดวกแก่ประชาชน
(๔) การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน การประชุมโดยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกำหนด
(๕) กิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่จัดโดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว หรือกิจกรรมอื่นตามที่ ศปม. กำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเข้าไปกำกับตรวจสอบหรือให้คำแนะนำการดำเนินกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลได้ และหากพบว่าการจัดหรือการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตักเตือนหรือแนะนำเพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง หรืออาจสั่งให้ยุติการดำเนินกิจกรรมนั้นได้
ข้อ ๖ การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการดำเนินชีวิต จึงกำหนดให้สถานที่และกิจกรรมดังต่อไปนี้ เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
(๑) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณีพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันเปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะการจำหน่ายในรูปแบบ การสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านการบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้นโดยไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงเพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคน และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ให้ผู้จัดการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน จัดให้มีระบบการคัดกรองและตรวจสอบการลงทะเบียน ผู้ขนส่งอาหารก่อนเข้าภายในอาคารหรือพื้นที่ การจัดระบบคิวและกำหนดพื้นที่เป็นการเฉพาะสำหรับรอคิว มีบริเวณพักคอยซึ่งมีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งหรือยืนที่เหมาะสม และต้องกำกับดูแลให้มีการดำเนิน มาตรการดังกล่าว รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(๒) กลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณา ปรับมาตรการเพื่อให้พื้นที่หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร สถานที่พักอาศัยชั่วคราว สำหรับแรงงาน งานก่อสร้าง และการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ตามข้อ ๒ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๕) ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งได้เคยมีประกาศหรือคำสั่งให้ปิดสถานที่หรือหยุดดำเนินการ หรือเคยได้รับการผ่อนคลายแบบมีเงื่อนไข แต่ต่อมาสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ตามมาตรฐานทางสาธารณสุข หรือได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้สถานที่มีสภาวะที่ถูกสุขลักษณะแล้ว โดยให้เปิดหรือดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์ มาตรการ และแนวทางกำกับติดตามประเมินผลที่กระทรวงสาธารณสุขหรือทางราชการกำหนด ซึ่งรวมถึงการมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในพื้นที่หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) เพื่อป้องกันการระบาดในแรงงานก่อสร้าง และเมื่อเกิดการระบาดในพื้นที่ต้องมีการปรับระดับความเข้มข้นของมาตรการ ทั้งนี้ ยังคงให้ดำเนินกิจการต่อไปภายใต้มาตรการ
การเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มีการบริหารจัดการในการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และกลุ่มเปราะบาง มีบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมีการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะไม่ใช้บังคับกับพื้นที่ สถานที่หรือกิจกรรมที่มีประกาศหรือคำสั่งปิดหรือห้ามดำเนินกิจกรรมเนื่องจากปรากฏการแพร่ระบาดแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายกรณี
ข้อ ๗ การปรับเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการเดินทางของกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ ศบค.มท. ศปม. กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล พิจารณาผ่อนคลายมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าออกของแรงงานก่อสร้างที่เดินทางข้ามเขตจังหวัดในเส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลตามความในข้อ ๗ (๒) แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๕) ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลาย มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามข้อ ๖ (๒) แห่งข้อกำหนดฉบับนี้ด้วย
ข้อ ๘ มาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างทั่วราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่อื่นนอกจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณานำมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่
ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มาใช้บังคับให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่และลักษณะของพื้นที่หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร สถานที่พักอาศัยชั่วคราว สำหรับแรงงาน งานก่อสร้าง และการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในพื้นที่ความรับผิดชอบด้วย
ข้อ ๙ มาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานทั่วราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการตรวจสอบ กำกับดูแล ประเมินผลการปฏิบัติ และให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติด้านสาธารณสุขของสถานประกอบกิจการหรือโรงงานและมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Sealเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ราชการกำหนด หากมีกรณีเกิดการแพร่ระบาดขึ้นในสถานประกอบกิจการหรือโรงงาน ให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ซึ่งต้องมีการปรับระดับความเข้มข้นของมาตรการ ทั้งนี้ ยังคงให้สถานประกอบกิจการหรือโรงงานดำเนินกิจการต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด มีมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มีการบริหารจัดการในการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และกลุ่มเปราะบาง มีบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมีการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด การดำเนินการของสถานประกอบกิจการหรือโรงงานตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route)ดังกล่าว ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยให้มีการกำกับติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะต่อไป
ข้อ ๑๐ การกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด เพื่อให้การป้องกันและควบคุม การระบาดของโรคสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ กิจการ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เป็นการเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่ส่วนกลางกำหนดได้ โดยให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. หรือ ศบค.มท. กำหนด
ข้อ ๑๑ การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องจนถึงวันที่
๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการ
ตามข้อกำหนดนี้ทุกห้วงระยะเวลาสิบสี่วัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี