สามารถ ราชพลสิทธิ์ เทียบเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค กับเกณฑ์การประมูลสายสีส้มส่วนตะวันตก และสายสีม่วงใต้ เจาะอุโมงค์ลอดใต้เจ้าพระยา เหมือนกัน แต่ทำไมประมูลต่างกัน ?
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีรถไฟฟ้าลอดใต้เจ้าพระยา เจาะอุโมงค์เหมือนกัน แต่ทำไมประมูลต่างกัน ? โดยมีรายละเอียดดังนี้
เวลานี้มีรถไฟฟ้าวิ่งลอดใต้เจ้าพระยาแล้ว 1 สาย นั่นคือสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และกำลังจะมีเพิ่มอีก 2 สาย ประกอบด้วยสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งอยู่ในระหว่างการประมูล แต่เชื่อมั้ยครับว่า เกณฑ์ประมูลกลับถูกเปลี่ยนจากเกณฑ์เดิมที่ใช้กับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งมีการเจาะอุโมงค์ลอดใต้เจ้าพระยาได้ผลดีมาแล้ว ?
รฟม.ใช้เกณฑ์อะไรในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งต้องเจาะอุโมงค์ลอดใต้เจ้าพระยาครั้งแรก ?
ในการประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ซึ่งต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และต้องขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรก
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ใช้เกณฑ์ประมูลโดยพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิคก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านราคาต่อไป ใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งเกณฑ์นี้เป็นที่ยอมรับและยึดถือปฏิบัติกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของ รฟม. และของหน่วยงานอื่น
ปรากฏว่าผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลไม่เคยมีประสบการณ์ในการขุดเจาะอุโมงค์ในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อน เพิ่งมีโอกาสจากโครงการนี้เป็นครั้งแรก แต่ก็สามารถทำการก่อสร้างจนสำเร็จลุล่วงเป็นไปตามความต้องการของ รฟม. และได้เปิดใช้ในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่าเกณฑ์ประมูลนี้เป็นเกณฑ์ที่ใช้ได้ผลดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สามารถ ชี้ ประเทศเสียหายปีละ 4.3 หมื่นล้าน ! เหตุเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มช้า ?
ประกวดราคาฯ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ทำไมเจาะจง ต้องมีผลงานกับรัฐบาลไทย ?
ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้แบบ “นานาชาติ” แต่ “ผู้รับเหมาต่างชาติ” กระอัก
รฟม.เปลี่ยนใจไม่ใช้เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ซึ่งต้องเจาะอุโมงค์ลอดใต้เจ้าพระยาเช่นเดียวกัน
รฟม.ได้เปิดประมูลหาผู้ร่วมลงทุน (หรือผู้รับสัมปทาน) ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และจัดหารถไฟฟ้ารวมทั้งให้บริหารจัดการเดินรถตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยใช้เกณฑ์ประมูลเหมือนกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย
นั่นคือต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทน (“ผลตอบแทน” ใช้สำหรับการหาผู้รับสัมปทาน ส่วน “ราคา” ใช้สำหรับการหาผู้รับเหมา) ต่อไป ใครเสนอผลตอบแทนสูงสุดก็จะชนะการประมูล
แต่ก่อนถึงวันยื่นข้อเสนอ รฟม.ได้ประกาศเปลี่ยนไปใช้ “เกณฑ์ใหม่” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทน โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการลดทอนความสำคัญข้อเสนอด้านเทคนิคลงจากเดิมที่มีคะแนนเต็ม 100% เหลือ 30% เท่านั้น
ทั้งนี้ รฟม.อ้างว่าเหตุที่ต้องเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลเนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตกเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะการก่อสร้างสถานีและอุโมงค์ใต้ดินผ่านพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน รวมทั้งจะต้องก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย จึงจำเป็นต้องได้ผู้รับสัมปทานที่มีประสบการณ์สูง
ซึ่งผมเห็นว่าถ้าเป็นไปตามข้ออ้างดังกล่าวจริง รฟม.ควรใช้เกณฑ์เดิม เพราะเป็นเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญข้อเสนอด้านเทคนิคถึง 100%
รฟม.คงลืมไปว่าในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ซึ่งต้องขุดเจาะอุโมงค์ในพื้นที่ชุมชนหลายแห่งเป็นระยะทางใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งหมด 22.5 กิโลเมตร รฟม.ก็ใช้เกณฑ์ประมูลเดิมหรือเกณฑ์ที่ใช้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ไม่ได้ใช้เกณฑ์ใหม่ ปรากฏว่าใช้ได้ผลดีทำให้การก่อสร้างมีความคืบหน้าถึงวันนี้ (13 สิงหาคม 2564) ประมาณ 85%
รฟม.ไม่ใช้เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ซึ่งต้องเจาะอุโมงค์ลอดใต้เจ้าพระยาเช่นเดียวกัน
ขณะนี้ รฟม.กำลังประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟาสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ หรือสายสีม่วงใต้ ซึ่งต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย
แต่ รฟม.ไม่ใช้เกณฑ์ประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งใช้ได้ผลดีมาแล้ว กลับไปใช้เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ซึ่งพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทน
ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจทำให้ รฟม.ต้องเสียค่าก่อสร้างมากกว่า และที่สำคัญ อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?
เหตุที่ รฟม.ไม่ใช้เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้นั้น รฟม.อ้างเหตุผลทำนองเดียวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก โดยอ้างว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ประกอบกับมีเส้นทางผ่านเขตชุมชนหนาแน่น พื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง เช่น พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องได้ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง
ข้ออ้างของ รฟม. ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงหรือไม่?
รฟม.อ้างว่าเหตุที่ไม่ใช้เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เพราะต้องขุดเจาะอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวและมีความซับซ้อน และต้องขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ทำให้ต้องใช้ผู้รับสัมปทานหรือผู้รับเหมาที่มีความสามารถสูง
จะเห็นได้ว่าข้ออ้างของ รฟม.ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริง กล่าวคือในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายก็ต้องขุดเจาะอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน ซึ่ง รฟม.ได้ใช้เกณฑ์ประมูลที่ทำให้สามารถคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีความสามารถก่อสร้างอุโมงค์ในพื้นที่ดังกล่าวได้สำเร็จสมบูรณ์ โดยไม่ได้นำคะแนนด้านเทคนิคมารวมกับคะแนนด้านราคาเพื่อพิจารณาหาผู้ชนะการประมูลแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงนี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เทคโนโลยีในการขุดเจาะอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้มีความพิเศษสลับซับซ้อนถึงขนาดต้องใช้เกณฑ์ประมูลที่แตกต่างไปจากการประมูลโครงการอื่นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่อยากให้ทุกคนได้รับรู้ก็คือ การขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใช่เป็นการขุดเจาะในแม่น้ำ แต่เป็นการขุดเจาะในดินใต้ท้องน้ำประมาณ 10 เมตร หรือใต้ผิวน้ำประมาณ 30 เมตร
สรุป
การที่ รฟม.ไม่ใช้เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายสำหรับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และสายสีม่วงใต้ แต่ใช้เกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทนหรือราคา อาจทำให้มีข้อเสียดังนี้
1. ในกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก รฟม.อาจไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุด ส่วนในกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รฟม.อาจต้องเสียค่าก่อสร้างมากกว่า
การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทนหรือราคา อาจทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลตอบแทนสูงสุด หรือเสนอราคาต่ำสุดไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะเขาอาจได้คะแนนรวม (ด้านเทคนิค+ด้านผลตอบแทนหรือราคา) น้อยกว่า
2. อาจถูกกล่าวหาว่าต้องการล็อกผู้รับสัมปทานหรือผู้รับเหมา
หากกรรมการคัดเลือกต้องการช่วยผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่งสามารถทำได้ง่าย เนื่องจากเกณฑ์นี้พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทนหรือราคา หากเห็นว่าผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นเสนอผลตอบแทนต่ำหรือเสนอราคาค่าก่อสร้างสูง ซึ่งจะทำให้ได้คะแนนด้านผลตอบแทนหรือราคาต่ำกว่า ก็จะเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคให้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงอาจทำให้ รฟม.ถูกกล่าวหาว่าต้องการให้ผู้ยื่นข้อเสนอบางรายได้รับคะแนนสูงกว่าผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นหรือไม่ ?
ดังนั้น หาก รฟม.คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งความสำเร็จของโครงการอย่างแท้จริง ก็ควรพิจารณาใช้เกณฑ์ประมูลเดิมที่พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคแยกกับข้อเสนอด้านผลตอบแทนหรือราคา ซึ่งใช้ได้ผลดีเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว แต่เหตุใด รฟม.จึงไม่ใช้เกณฑ์ประมูลเดิมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนดังที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมา เห็นชัดๆ กันอย่างนี้แล้ว รฟม.จะว่าไง?
ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง