ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เปิดทีโออาร์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่กำหนดให้ผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานกับ “รัฐบาลไทย” เท่านั้น ก่อให้คำถามมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ ?
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กำลังประกวดราคานานาชาติก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ โดยไม่อนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาลต่างประเทศ ให้ใช้ได้เฉพาะผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติที่มีศักยภาพสูงหลายราย แต่ไม่มีผลงานกับรัฐบาลไทย ไม่สามารถเข้าประมูลได้
แม้ผมจะสนับสนุนผู้รับเหมาไทยก็ตาม แต่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้รับเหมาต่างชาติ ที่ผ่านมา รฟม. เคยให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาลต่างประเทศได้ แล้วทำไมครั้งนี้จึงไม่ให้ ? จึงมีเหตุที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนทั่วไปว่า มีอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่ ?
รฟม.กำหนดให้ผู้รับเหมาที่จะเข้าประกวดราคานานาชาติ (International Competitive Bidding) ต้องมีผลงานอะไร ?
ทีโออาร์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดชัดว่าผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานกับ “รัฐบาลไทย” เท่านั้น และต้องแล้วเสร็จไม่เกิน 20 ปี นับถึงวันที่ยื่นซอง ดังนี้
1. ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท โดยก่อสร้างด้วยวิธีใช้เครื่องเจาะ TBM (Tunneling Boring Machine)
2. ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหรือลอยฟ้าในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
3. ออกแบบอุโมงค์ใต้ดินหรือสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหรือลอยฟ้าในสัญญาเดียวที่มีค่าก่อสร้างไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
นั่นหมายความว่าผู้รับเหมาต่างชาติที่มีขีดความสามารถในการออกแบบและก่อสร้างสูงแต่ไม่มีผลงานกับรัฐบาลไทย จะไม่สามารถเข้าประมูลได้ ซึ่งในความเป็นจริงผู้รับเหมาต่างชาติที่มีประสบการณ์งานออกแบบและก่อสร้างในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหรือลอยฟ้า ย่อมมีความสามารถที่จะออกแบบและก่อสร้างงานดังกล่าวในประเทศไทยได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.สามารถ เทียบให้เห็น เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ใครได้ประโยชน์ ?
ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างมีเงื่อนงำ กระทบก่อสร้าง-เปิดบริการล่าช้า
รฟม.เคยอนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาล ตปท.ได้
ที่ผ่านมา รฟม.ได้มีการประกวดราคานานาชาติ โดยอนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาลต่างประเทศได้เป็นจำนวนอย่างน้อย 2 โครงการ ดังนี้
1. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต ประมูลปี 2556
ทีโออาร์อนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาลใดในโลกก็ได้ แต่จะต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จไม่เกิน 15 ปี นับถึงวันที่ยื่นซอง และจะต้องเป็นผลงานที่สอดคล้องกับงานที่กำลังประมูล
2. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ-มีนบุรี) ประมูลปี 2559
ทีโออาร์อนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาลใดในโลกก็ได้ แต่จะต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จไม่เกิน 15 ปี นับถึงวันที่ยื่นซอง และจะต้องเป็นผลงานที่สอดคล้องกับงานที่กำลังประมูล
หน่วยงานอื่นก็เคยอนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาลต่างประเทศได้
อย่างน้อยมีการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เคยอนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาลต่างประเทศได้เป็นจำนวนอย่างน้อย 3 โครงการ ดังนี้
1. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ประจวบคีรีขันธ์-หัวหิน ประมูลปี 2560
ทีโออาร์อนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานในต่างประเทศนำมายื่นได้ แต่ต้องเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับส่วนราชการ หรือหน่วยงานเอกชนที่การรถไฟฯ เชื่อถือ และต้องแล้วเสร็จไม่เกิน 20 ปี นับถึงวันที่ยื่นซอง
2. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายกลาง ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ประมูลปี 2560
ทีโออาร์อนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานในต่างประเทศนำมายื่นได้ โดยมีเงื่อนไขเหมือนกับการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้
3. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ประมูลปี 2564
ทีโออาร์อนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานก่อสร้าง “อุโมงค์” ในต่างประเทศนำมายื่นได้ แต่ต้องเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่การรถไฟฯ เชื่อถือ และต้องแล้วเสร็จไม่เกิน 20 ปี นับถึงวันที่ยื่นซอง
กรณีประกวดราคานานาชาติรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ทำไม รฟม. จึงไม่อนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาลต่างประเทศ ?
รฟม.อ้างว่าเป็นไปตามหนังสือหารือกับคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กวจ) 0405.3/24575 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
ก่อนได้เห็นหนังสือฉบับนี้ ผมคิดว่าคงเป็นหนังสือที่ รฟม.หารือกับคณะกรรมการวินิจฉัยฯ เกี่ยวกับการประมูลรถไฟฟ้า แต่กลับกลายเป็นหนังสือที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หารือเกี่ยวกับเอกสารประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของ กฟน. ตามแบบฟอร์มมาตรฐาน (อ้างอิงหนังสือที่ กค (กนบ) 0405.2/ว410 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2560) จึงเท่ากับเป็นการตีความนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” ตามแบบฟอร์มมาตรฐานว่าหมายถึงหน่วยงานของรัฐไทยเท่านั้น
โดยหลักการแล้ว การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไม่จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์มมาตรฐานในทุกกรณี แต่สามารถปรับเปลี่ยนให้แตกต่างตามความเหมาะสมและจำเป็น เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ทำให้รัฐเสียเปรียบ (อ้างอิงข้อ 43 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ประกอบหนังสือที่ กค (กจว) 0405.3/59110 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563)
การประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นการประกวดราคานานาชาติ ซึ่งมุ่งหวังให้มีการแข่งขันอย่างกว้างขวาง และให้ได้มาซึ่งผู้ที่ชำนาญ (อ้างอิงมติ ครม. 28 กุมภาพันธ์ 2560)
อีกทั้ง ต้องการให้ช่วยลดการสมยอมราคา (ฮั้ว) ซึ่งจะส่งผลดีต่อความโปร่งใสในระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี (อ้างอิงหนังสือกระทรวงคมนาคม ที่ คค 0208/2840 ลงวันที่ 7 เมษายน 2560) ดังนั้น รฟม.จึงสามารถที่จะปรับเปลี่ยนรายละเอียดของทีโออาร์ให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวได้
สรุป
การที่ รฟม.อ้างว่าได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย เพราะได้ปฏิบัติตามหนังสือข้อหารือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ไม่น่าจะถูกต้อง เนื่องจากหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการอธิบายคำนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” ในข้อความ “ผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่ (หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดจ้าง) เชื่อถือ” ตามแบบฟอร์มมาตรฐานที่ใช้บังคับกับการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปว่าหมายถึงหน่วยงานของรัฐไทยเท่านั้น
ทั้งนี้ พรบ.จัดซื้อจัดจ้างฯ อนุญาตให้ปรับเปลี่ยนข้อความในแบบฟอร์มดังกล่าว รวมถึงคำนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” ได้ ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ซึ่ง รฟม.ไม่ได้ปรับเปลี่ยนคำนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” แต่ไม่ได้ระบุ “หรือหน่วยงานเอกชนที่ รฟม.เชื่อถือ” ไว้ในทีโออาร์ นั่นหมายความว่าผู้รับเหมาจะใช้ผลงานที่มีกับเอกชนไม่ได้ ต้องใช้ผลงานที่มีกับรัฐไทยเท่านั้น
จึงมีเหตุชวนให้น่าสงสัยว่า ทำไม รฟม.จึงไม่ปรับเปลี่ยนคำนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” ให้หมายความรวมถึงหน่วยงานของรัฐ ต่างประเทศด้วย และทำไมจึงไม่ระบุ “หรือหน่วยงานเอกชนที่ รฟม.เชื่อถือ” ไว้ในทีโออาร์ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประกวดราคานานาชาติตามที่ ครม.อนุมัติโดยมุ่งหวังให้มีการแข่งขันอย่างกว้างขวาง และให้ได้มาซึ่งผู้ที่ชำนาญ ?
ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง