ถอดบทเรียน อินเดียควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 อยู่หมัด อาศัย 7 ปัจจัย ฟ้าหลังฝน พบ 2 ใน 3 ของประชากรเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ
ประเทศอินเดีย ถือเป็นประเทศที่มียอดผู้ป่วยโควิด19 สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยยอดกว่า 32 ล้านราย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64) รองจากสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 36.5 ล้านราย
การระบาดระลอกใหม่ในอินเดียเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งขึ้นไปแตะ 20,000 รายขึ้นไปในวันที่ 11 มี.ค. 64 และไต่สูงขึ้นตลอด จนถึงวันที่ 7 พ.ค. 64 ที่มียอดสูงสุดตลอดกาลด้วยจำนวน 414,188 ราย แต่หลังจากนั้นยอดติดเชื้อก็ทยอยลดลง ผ่านไป 1 เดือนหลังยอดติดเชื้อสูงสุด ติดเชื้อใหม่รายวันเพียง 100,636 ราย หลังจากนั้นอีกเดือนให้หลัง (7 ก.ค. 64) ติดเชื้ออยู่ที่ 43,733 ราย และคงระดับติดเชื้อราว 3-4 หมื่นรายต่อวัน อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก
อินเดียคุม 'โควิด19' ได้อย่างไร ?
รัฐบาลอินเดียตัดสินใจอย่างทันท่วงที เมื่อเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ในประเทศเริ่มเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ด้วยการอาศัย 7 ปัจจัยในการควบคุมโรค
1. ตัดสินใจจากคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์และแพทย์
รัฐบาลอินเดีย อาศัยคำแนะนำต่างๆ จากนักไวรัสวิทยา และแพทย์ ในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อรองรับการแพร่ระบาดโควิด19 ที่นอกเหนือจากหน่วยคัดกรอง หรือ ตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกแล้ว อาทิ หน่วยจัดหาเตียง หน่วยจัดหาออกซิเจน เพื่อกระจายให้หน่วยต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
2. ตรวจตัวชีวัดระบาดวิทยาอย่างละเอียด
หลังจากที่จัดตั้งหน่วยต่างๆ ขึ้นมาแล้ว จะมีทีมที่ดูแลตัวชี้วัดในการระบาดวิทยาอย่างละเอียด ปูพรมตรวจทุกพื้นที่ในประเทศ โดยเฉพาะจุดแออัดที่อาจเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ซึ่งตรวจด้วยการศึกษาน้ำเสียที่เก็บมาจากในชุมชนต่างๆ
3. ตรวจหาเชื้ออย่างจริงจัง
ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโควิด19 ขึ้นมา รัฐบาลทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อกระทรวงสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น รัฐบาลอินเดียก็เช่นเดียวกันทุ่มกำลังให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยเฉพาะด่านหน้าที่ต้องรับกับจำนวนผู้ป่วยมหาศาลจนทะลักโรงพยาบาล
นอกจากเจ้าหน้าที่ด่านหน้าแล้ว ยังมีทีมเจ้าหน้าที่คอยซัพพอร์ตอีกทีม ในการนำข้อมูลระบาดวิทยามาวิเคราห์อย่างจริงจัง ในการคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่นชุมชนไหนมีผู้ป่วยหรือไม่มี ชุมชนใดใกล้จะเป็นแหล่งคลัสเตอร์ใหม่
นอกจากนั้นยังเฝ้าตรวจจีโนมของโควิด19 ในผู้ป่วยเพื่อระวังการกลายพันธุ์ใหม่อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ถอดบทเรียน อู่ฮั่นโมเดล สู่การมองอนาคต โควิด-19 ไทยล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ
ย้อนรอยการรับมือ "โควิดสายพันธุ์เดลต้า ที่กว่างโจว" : 1 เดือน เอาอยู่
4. ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
แน่นอนว่าแม้รัฐบาลจะทุ่มกำลังคนมากเพียงใด แต่ด้วยปริมาณข้อมูลที่มหาศาลและข้อจำกัดบางอย่างของมนุษย์ก็ไม่อาจรองรับได้ทั้งหมด การที่หันมาพึ่งพาเทคโนโลยีจึงเป็นคำตอบ ทั้งการใช้ Big Data หรือ เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่ใหม่มากขึ้น แม้อินเดียอาจไม่ก้าวล้ำเหมือนที่ประเทศจีน ที่ใช้โดรนในการขนส่งเชื้อหรือยาให้กับผู้ป่วยโควิด19 และ ใช้รถยนต์ไร้คนขับในการพาหนะเพื่อลด หลีกเลี่ยงการสัมผัสแล้ว เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลก็ถือเป็นการลดภาระไปได้มากทีเดียว
5. ระดมฉีดวัคซีน
สิ่งที่ช่วยมนุษย์มีความหวังขึ้นมา ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด19 ก็คือวัคซีน แม้วัคซีนอาจไม่ใช่กระสุนวิเศษที่เมื่อฉีดไปแล้วจะหยุดการระบาดได้ในทันที แม้ฉีดไปแล้วอาจยังติดเชื้อหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้ แต่ก็ถือว่าเป็นกระสุนที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยลดการติดเชื้อ หรืออาการป่วยหนัก รวมไปถึงลดอัตราการเสียชีวิตที่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึ่งพอใจเป็นอย่างมาก
การฉีดวัคซีน ไม่ใช่เพียงเจ้าหน้าที่ในการฉีด แต่รวมไปถึงการขนส่ง ประเทศอินเดียได้ปรับปรุงรถขนส่งวัคซีนให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ด้วยห้องเย็นที่ช่วยรักษาคุณภาพวัคซีนให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และอำนวยความสะดวกในการสัญจรของรถขนส่งวัคซีนเพื่อให้ชุมชนต่างๆ สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังเปิดช่องทางให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาช่วยเหลือในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรของอินเดีย นอกจากจะเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐแล้ว ยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการฉีดที่ช่วยประชากรเข้าถึงวัคซีนได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
และอย่างที่ทราบกันว่าประเทศอินเดียมีโรงงานผลิตวัคซีนเองในประเทศ ทางภาครัฐจึงขอความร่วมมือกับทางโรงงานที่ผลิตวัคซีนให้แก่คนในประเทศก่อน ก่อนที่จะส่งออกนอกประเทศ แม้คำสั่งดังกล่าวจะเป็นการดีต่อคนในประเทศ แต่ก็ส่งผลกระทบไปในวงกว้างมากเช่นเดียวกัน ประเทศต่างๆ ที่จองวัคซีนจากอินเดียก็ต้องดิ้นรนหาวัคซีนจากที่อื่นแทน และส่งผลให้โครงการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกล่าช้า
6. เฝ้าระวังตลอดเวลา
แม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ของอินเดียจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมียอดติดเชื้อต่ำกว่า 50,000 ราย เหลือเพียงราว 3-4 หมื่นรายต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. จวบจนถึงปัจจุบัน แต่บุคลากรณ์ทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังคงตั้งรับการกลับมาของโควิด19 ระลอกใหม่อยู่ตลอดเวลา
7. สื่อสารอย่างต่อเนื่อง
ทุกวันนี้ทางการอินเดีย ยังคงสื่อสารต่อประชากรอย่างต่อเนื่องให้เฝ้าระวังถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมไปถึงมาตรการควบคุมต่างๆ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้โควิด19 สามารถกลับมาแพร่ระบาดได้ง่ายๆ แม้จะเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ แต่การเตือนว่า "สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ยังไม่สิ้นสุด โควิดยังไม่หายไปไหน" ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากทั้ง 7 ปัจจัยที่ช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ในอินเดียคลี่คลายลงแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นฟ้าหลังฝนก็เป็นได้
ทางด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เผยว่ามีงานวิจัยในการสุ่มตรวจหาแอนติบอดี หรือการหาภูมิคุ้มกันโควิด19 พบว่า 2 ใน 3 ของประชากรอินเดีย หรือมากกว่า 900 ล้านคน ติดเชื้อโควิด19 ตามธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือประชากรอีก 1 ใน 3 หรือ ราว 400 ล้านคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งตรงจุดนี้ยังสามารถติดเชื้อโควิด19 ได้อยู่ จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด
ปัจจุบันอินเดียฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 500 ล้านโดส ด้วยยอด 508,664,759 โดส และฉีดครบสองโดสไปมากกว่า 100 ล้านคนแล้ว แต่ครอบคลุมเพียง 8% ของประชากรเพียงเท่านั้น
สรุป
การที่ประเทศอินเดียติดเชื้อโควิด19 ลดลง อาจสืบเนื่องมาจากการที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเกิดภูมิคุ้นกันตามธรรมชาติแล้ว ส่งผลให้โควิด19 ได้กลายจากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่นในอินเดียไปแล้ว เหมือนไข้หวัดใหญ่
แม้ต่อให้มีการล็อกดาวน์ ป้องกันตัวเองเต็มที่ และฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม ทว่าการฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% หรือแปลว่าฉีดแล้วจะไม่ติดโควิด19 ไม่ป่วย เพียงแต่ช่วยลดความรุนแรงในอาการป่วย และลดอัตราการเสียชีวิตได้มากถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทางที่ดีคือให้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนก่อนไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด ยี่ห้อใดก็ตาม เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโควิด19
อ้างอิงข้อมูลจาก
WHO Coronavirus (COVID-19) Dashboard
Tracking Covid-19 vaccinations worldwide
Center for Global Development
Worldometers