ประเทศไทยเรียนออนไลน์มาร่วม 1 ปีการศึกษาเต็ม หน้าตาการเรียนการสอนแตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนแค่ไหน ผลเป็นอย่างไร ลองไปฟังความคิดเห็นโดยตรงจากนักเรียน นักศึกษา ว่าพวกเขาคิดกันอย่างไร
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนทั่วโลก และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การที่เด็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เพราะโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานศึกษา ต่างเป็นสถานที่ที่รวมผู้คนจำนวนมากไว้ด้วยกัน และอาจเป็นคลัสเตอร์ที่โควิดสามารถแพร่ระบาดง่าย เนื่องด้วยวัคซีนโดยส่วนมากไม่แนะนำฉีดให้เด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
เมื่อนักเรียน นักศึกษาไม่ได้ไปโรงเรียน มหาวิทยาลัย แต่การเรียนการสอนยังจำเป็นที่จะต้องดำเนินต่อไป การเรียนออนไลน์จึงถูกเลือกมาเป็นคำตอบ จนถึงตอนนี้ผ่านการเรียนออนไลน์มาแล้วร่วมปี แต่การเรียนออนไลน์นั้นเป็นอย่างไร ลองฟังเสียงสะท้อนจากพวกเขากัน
-----------------------------
ชอบไปโรงเรียนมากกว่า อยู่บ้านก็เหงา
น้องแพรว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราชินี เล่าว่า ที่โรงเรียนจะมีการสอนรวมกัน 2 รูปแบบ เป็นแบบ E-Learning คือเป็นสื่อการเรียนการสอน ให้นักเรียนเข้าไปศึกษาเอาเอง กับแบบเรียนไลฟ์ออนไลน์ผ่านไมโครซอฟท์ทีม
ซึ่งมีเรียนเช้าสุดตั้งแต่ 07.40 น. ในวันพุธวิชาโครงงาน นอกนั้นวันอื่นเริ่ม 08.30 น. ไปจนถึง 15.45 น. ของทุกวัน โดยที่เรียนได้ง่ายขึ้น เพราะคุณครูจะแจ้งรายละเอียดการเรียนการสอนล่วงหน้าและละเอียดกว่าเดิม เพื่อที่นักเรียนจะได้เข้าใจ และสามารถเก็บคะแนนได้ดีขึ้น เพราะสามารถกลับไปทบทวนสิ่งที่ครูสอนได้ ซึ่งนี่เป็นข้อดีของการเรียนออนไลน์
แต่ว่าความสัมพันธ์ของอาจารย์กับศิษย์ ก็ลดลงด้วย เพราะการเข้าหาครูเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น แม้จะสามารถพิมพ์ไปทักครูได้ แต่ก็ไม่เหมือนกับการที่เดินไปถามครูโดยตรง ไฟในการเรียนมีไม่เท่าการเรียนในห้องเรียน
ส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ไม่ติดโซเชียล เพราะงั้นแล้วจึงชอบไปโรงเรียนมากกว่า อยู่บ้านก็เหงา เพราะไม่ได้ติดต่อเพื่อนๆ เท่าไหร่ นอกจากนี้เป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรม ชอบเรียนวิชาพละมาก แต่พอเป็นเรียนออนไลน์แล้วกลับกันเลย ได้เรียนแต่ภาคทฤษฎี ไม่ได้ลงไปเล่นในสนามเหมือนทุกทีที่ไปโรงเรียน จึงทำให้ไม่ชอบการเรียนออนไลน์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เด็กน้อยมาเลเซีย นั่งเรียนออนไลน์ช่วงโควิด-ริมถนน แก้ปัญหาอินเตอร์เน็ตไม่แรง
รู้แต่ทฤษฎี ปฏิบัติจริงไม่เป็น
เป็นคำกล่าวของ อาม นักศึกษาวิศวอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ภาคพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตร ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่นักศึกษาคณะวิศวะ จะต้องเข้าเรียน Workshop แต่พอเรียนออนไลน์ เรื่องชัดเจนที่สุดเรื่องหนึ่ง คือไม่สามารถลงไปฝึกภาคปฏิบัติได้ ได้แต่เรียนภาคทฤษฎี ทำให้เกิดความกังวลว่าเมื่อถึงเวลาไปทำงานต้องลงมือทำจริงแล้วจะทำไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาไม่เป็นไปตามทฤษฎี
ควรจะต้องกลับเข้าไปเรียนในรั้วมหาลัย เพราะเรียนออนไลน์อย่างเดียวมันไม่ได้จริงๆ แม้จะเป็นการเรียนเลคเชอร์อย่างเดียวที่สามารถเรียนออนไลน์ได้ แต่ก็ไม่เหมือนการเข้าไปนั่งเรียนในห้องเรียนจริงๆ บรรยากาศการเรียนไม่ได้
อาม เข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งก็เริ่มมีการระบาดของโควิด19 ทำให้การเรียนถูกปรับเป็นออนไลน์ ชีวิตเด็กปี 1 ที่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยถูกงดไป 60-70% เรียกได้ว่ารสชาติชีวิตนักศึกษาภายในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ใครหลายคนบอกว่าเป็น 4 ปีที่ดีสุดของชีวิต 'หายไป'
ตอนนี้เรียนมาถึงปี 2 แล้ว แต่รู้จักเพื่อนน้อยมาก กลุ่มที่สนิทรู้จักกันเล็กๆ 4 คน รวมตัวเอง ซึ่งผิดกับที่ปกติแล้ว นักศึกษาคณะวิศวะฯ จะจับตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ตอนนี้อยากรู้จักเพื่อนๆ มากขึ้น ช่วงรับน้องที่ผ่านมา จัดกิจกรรมรับน้องออนไลน์ไม่สนุกเท่าที่ควร รุ่นพี่-รุ่นน้องไม่รู้จักกัน
-----------------------------
ชอบเรียนออนไลน์ ลดค่าใช้จ่ายได้เยอะ
อมาเน่ นักศึกษานิเทศศาสตร์ สาขา Branding Influencer มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นคนเดียวที่ตอบว่า ชอบเรียนออนไลน์มากกว่าการไปนั่งเรียนให้ห้องเรียน ไม่ใช่ว่าไม่ชอบการเรียนแบบเก่า แต่การเรียนออนไลน์มีความสะดวกและความยืดหยุ่นมากกว่า ขอแค่เพียงมีอุปกรณ์พร้อมก็สามารถเรียนจากที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแต่งตัว ต้องเดินทางไปเรียนในห้องเรียน
อมาเน่สามารถที่จะตื่นขึ้นมา แล้วเรียนจากบนที่นอนได้เลย ซึ่งตรงจุดนี้ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะมาก เพราะว่าไม่จำเป็นต้องเสียค่าเดินทาง ค่ามื้ออาหาร หรือค่าต่างๆ จิปาถะที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อต้องออกไปเรียน แต่อาจต้องไปเสียค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ตแทน แต่โดยรวมก็ถูกกว่าการออกไปเรียนหนึ่งวัน
นอกจากที่จะช่วยให้ประหยัดได้มากขึ้นแล้ว น่าจะเป็นอีกสิ่งที่สาวๆ ชื่นชอบคือการไม่ต้องเดินทาง ออกไปตากแดด ซึ่งเลี่ยงให้ผิวไม่เสีย ไม่ไหม้
สิ่งที่แตกต่างอีกจุดคือ การเรียนในห้อง เราจะมีเพื่อนๆ คอยช่วยเหลือ ช่วยกันเรียน แต่พอเรียนออนไลน์คือต้องโซโล่เองคนเดียว ต้องพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่อาจารย์สอนมากขึ้น แม้การเรียนออนไลน์จะทำให้มีสมาธิไม่เท่าเรียนในห้อง แต่สามารถกลับไปทวนได้
-----------------------------
มันน่าเบื่อ ตั้งใจเรียนยาก
นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เด็กๆ โดยส่วนมากรู้สึกกับการเรียนออนไลน์ ซึ่งไม่ต่างกันกับที่เด็กชายพอลรู้สึก แม้ว่าปกติแล้วจะอยู่แต่หน้าจอตลอด ไม่ว่าจะจอคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือ ไอแพด แต่การเรียนผ่านหน้าจอกลับเป็นอะไรที่ไม่ชอบเลย มันไม่สนุก มันน่าเบื่อ และตั้งใจเรียนได้ยาก
พอล เป็นนักเรียน Year 7 จากโรงเรียนบางกอกพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติ เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 1 เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้เรียนผ่าน ไมโครซอฟท์ทีม พอเรียนเสร็จทุกคนก็ออก ออกไปใช้ชีวิตส่วนตัว ไม่เหมือนที่โรงเรียนที่ปกติแล้วจะได้เจอหน้ากัน คุยกัน มีใช้ Discord บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยได้คุยกับเพื่อน ไปคุยกับเพื่อนที่เจอใน Youtube ที่มีความสนใจเหมือนๆ กัน
นอกจากที่ไม่ชอบเรียนออนไลน์แล้ว อีกสิ่งที่รู้สึกคือความพร้อมในการเรียนออนไลน์มีไม่เท่าการเรียนในห้องเรียน ทั้งความสนใจเรียนและอุปกรณ์ในการเรียน ไม่ใช่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เรียนแต่เป็นอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ และครูที่สอนหน้าชั้นเรียนกับครูที่สอนในจอจะเป็นคนเดียวกัน แต่ความสนุกในการเรียนไม่เท่ากัน
ที่ชอบการเรียนออนไลน์ คือไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปโรงเรียน ปกติแล้วต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อไปโรงเรียนให้ทันตอน 07.30 น. แต่เดี๋ยวนี้ตื่นสายได้ ถ้ามีเรียน 07.30 น. ตื่น 07.20 น. ก็ยังทัน แล้วตอนเที่ยงก็ได้กินข้าวที่ที่บ้านทำเองด้วย ไม่ใช่ข้าวจากแคนทีน
-----------------------------
กล่าวโดยรวมแล้วเด็กหลายคน ทั้งระดับมัธยม หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ต่างรู้สึกว่าการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ อาจไม่ใช่คำตอบในการศึกษา เพียงแต่เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 อาจยังไม่มีทางออกอื่นที่ดีกว่านี้ ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องยากกับการจดจ่ออยู่หน้าจอสี่เหลี่ยมๆ
ก่อนหน้านี้การเรียนรู้ไม่ใช่เพียงแต่การเรียนรู้ภายในห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่เป็นการออกไปเรียนรู้โลกกว้างที่ไร้กรอบ ตอนนี้กลับกลายเป็นจอสี่เหลี่ยมที่เล็กยิ่งกว่าในห้องเรียนเสียอีก
***ชื่อทั้งหมดเป็นนามสมมุติ เนื่องจากผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดยังเป็นผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงไม่อาจเปิดเผยชื่อเพื่อความปลอดภัยของตัวเด็กเอง