สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ HUAWEI Thailand ลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของกำลังคน เพื่อสังคมนวัตกรรมที่ยั่งยืน ดันสตาร์ทอัพไทยเพื่อให้ไปต่อได้พร้อมสู้โควิด-19 เฟ้นไอเดียใหม่ ต่อยอดธุรกิจ
นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า กรอบความร่วมมือระหว่าง NIA กับ HUAWEI Thailand ในครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจาก NIA สวทช. และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของกำลังคน เพื่อสังคมนวัตกรรมที่ยั่งยืน เมื่อตุลาคม 2019
ซึ่งจาก MoU ฉบับนี้นำไปสู่ความร่วมมือในการจัดอบรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G ในโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการนวัตกรรมในระยะเริ่มต้นด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G (Pre-incubator) และผลักดันเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น (Incubation program)
โดยก่อนหน้านี้เคยร่วมกับ HUAWEI Thailand พัฒนาด้าน IoT Cloud มาแล้ว แต่ในปัจจุบัน ‘5G’ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและสังคม ด้วยขีดความสามารถที่ดีกว่าระบบ 4G ในหลายๆ ด้าน ทั้งในแง่ความเร็วของการอัปโหลด-ดาวน์โหลดข้อมูล ประสิทธิภาพในการทำงานของภาพและเสียงที่รวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่าตัว
นอกจากนี้ยังสามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สายจำนวนมาก และเมื่อใช้ร่วมงานกับการลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT จะยิ่งช่วยต่อยอดและสามารถพัฒนาไปสู่ธุรกิจและบริการใหม่ๆ เช่น ด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว และเอนเตอร์เทนเมนท์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในโลกยุค New Normal นี้ และถือเป็นโอกาสให้กับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่กำลังนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ทำผลิตภัณฑ์และบริการให้แก่ลูกค้ามากขึ้น
สำหรับปี 2564 เราได้เริ่มต้นโครงการด้วยการอบรมออนไลน์ DEEP TECH STARTUP IN 5G DEVELOPMENT โดย HUAWEI Academy เปิดการเรียนรู้เรื่อง 5G, Cloud และ IoT ในตลอดเดือนมิถุนายน มีสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมในระยะเริ่มต้นด้าน Deep Tech เข้าร่วมกิจกรรม รวม 32 ราย และต่อเนื่องความเข้มข้นกับกิจกรรม Mentoring ในเดือนกรกฏาคม เป็นกระบวนการบ่มเพาะพัฒนาแผนงานธุรกิจที่นำเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้ มี 14 แผนงานธุรกิจที่จากผู้ประกอบการด้าน Deep Tech เข้ารับการบ่มเพาะ เพื่อนำไปสู่กิจกรรมสุดท้ายของโครงการในต้นเดือนกันยายน ที่จะคัดเลือกเหลือเพียง 4 ผู้ประกอบการที่มีแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G ที่ดีเยี่ยม โดยจะเปิดเวทีให้ 4 ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G ได้นำเสนอแผนงานธุรกิจต่อนักลงทุนและสาธารณชนต่อไป
ทั้งนี้กิจกรรม Mentoring กระบวนการบ่มเพาะพัฒนาแผนงานธุรกิจที่นำเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้ นำทีมให้คำปรึกษาจาก Huawei โดยคุณวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม คุณวิศรุต กัลย์จารึก ผู้จัดการศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center และคุณอัฐพงศ์ ชูละออง ผู้จัดการแผนกผลิตภัณฑ์ไร้สาย และให้คำปรึกษาเรื่องแผนงานธุจกิจ โดย ดร.ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์ ประธาน กรรมการบริหารของ Lean Business Design Thailand และเป็นผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคมการค้าส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ เอสเอ็มอี
โดยมีผู้ประกอบการด้าน Deep Tech ที่เข้าร่วมโครงการและเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะพัฒนาแผนงานธุรกิจที่นำเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้ อาทิ บจก.บีเอ็นเค มิวสิคมอล บจก.โปร-ทอยส์ บจก.เอ็นเนอร์ยี่อ็อฟติง บจก.ยังอินฮาร์ทโธเปียโซเชียลบิสเนส บจก.วี เมต้า ซอฟท์ บจก.จอยเอ็นโค บจก.วิสดอมเชน โซลูชั่น บจก.ฮักเด้ฟาร์ม หจก.พีเอ็นยู สตาร์ทอัพ บจก.เอสซี สปาร์ค โซลูชั่น และ บจก.เพ็ท พอว์
อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G นับเป็นอีกหนึ่งโครงการของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยศูนย์วิสาหกิจประเทศไทย หรือ Startup Thailand กับบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้นของไทย ที่จะเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกและสร้างเครือข่ายวิสาหกิจเริ่มต้นเชิงลึกเพื่อเตรียมรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต