ทำเอาชาวโซเชียลวิพากษ์ วิจารณ์อย่างหนักหลัง ศบค. ออกประกาศ เพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เป็น 29 จังหวัด และยังผ่อนคลายเปิดร้านอาหารในห้างได้แต่ซื้อกลับบ้านเองไม่ได้ ต้องสั่งผ่าน Delivery เท่านั้น
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงหลัง ศบค. ออกประกาศ ประกาศเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เป็น 29 จังหวัด และผ่อนคลายร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าให้เปิดจำหน่ายสินค้า ซึ่งเปิดดำเนินการได้ แต่ให้จำหน่ายในรูปแบบสั่งบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปลดล็อก ! ร้านอาหารในห้างขายเดลิเวอรี่ได้ ช่วยต่อลมหายใจธุรกิจ
ร้านอาหารในห้าง ลุ้น "นายก" คุย ศบค.พรุ่งนี้ ขายเดลิเวอรี่ได้-ไม่ได้ ?
ด่วน! จ่อผ่อนคลายร้านอาหารในห้าง ขายเดลิเวอรี่ได้ ชงศบค.อนุมัติ
โดยเงื่อนไขในการเปิดขายแบบเดลิเวอรี่ มีดังนี้
1. ผู้ประกอบการ
จัดทำมาตรการ DMHTemp สำหรับพนักงานทุกคน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามรวมกลุ่ม หรือรับประทาน อาหารร่วมกัน หลีกเลี่ยงการไปที่ชุมนุม การเดินทางมาทำงานให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น จัดพนักงานในการส่งอาหารไปยังจุดส่งอาหาร ห้ามเปิดบริการหน้าร้าน กรณีมีอาการทางเดินหายใจ/ไข้ หรือเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทางาน
2. ห้างสรรพสินค้า
จัดจุดพักรอรับอาหาร โดยเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ไม่รวมกลุ่มกัน จุดพักรอเป็นสถานที่อากาศถ่ายเทสะดวกไม่พลุกพล่าน มีระบบ DMHTempA และมีผู้รับผิดชอบกำกับติดตามมาตรการ
3. พนักงานรับส่งอาหารแบบออนไลน์
เน้นย้ามาตรการ DMH สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างผู้อื่น พกเจลแอลกอฮอล์, รอรับอาหาร ณ จุดรับส่งเท่านั้น กรณีมีอาการทางเดินหายใจ/ไข้ หรือเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทำงาน
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะต้องทำตัวอย่างไร เมื่อออกไปซื้อสินค้าจำเป็นที่ Supermarket ในห้าง แล้วเกิดอยากซื้ออาหารที่ร้านอาหารในห้างมารับประทาน ซึ่งแนวทางปฏิบัติมีอยู่ 3 ทางเลือก
1.ยืนรอหน้าร้าน กดแอป เพื่อให้ไรเดอร์ไปหยิบอาหารมาให้
2.กลับบ้าน กดแอป ให้ไรเดอร์ขับมาส่งที่บ้าน
3.สมัครเป็นไรเดอร์ ได้เสื้อ ใส่เสื้อไรเดอร์ รับอาหารหน้าร้าน ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุว่า กรณี ศบค. ผ่อนผันให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าขายผ่านเฉพาะ Delivery นั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของ ศบค. ก่อนว่า ต้องการพยายามควบคุมการระบาดของโรคและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นการงดการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคนนั้น อาจสร้างความไม่สะดวกแก่ประชาชน เพราะปกติคนไทยจะทำอะไรแบบสบายๆ การใช้ยาแรงเพื่อแก้ปัญหาแบบอู่ฮั่นโมเดลคงไม่สามารถทำได้
ส่วนกรณีข้อกังวลว่า การสั่งซื้อผ่านบริการ Delivery แม้จะสามารถเลี่ยงการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคนได้ แต่อาหารยังต้องผ่านหลายมือกว่าจะถึงผู้บริโภค และยังเกิดกรณีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากไรเดอร์นั้น ส่วนตัวมองว่าบริษัทผู้ให้บริการ Delivery ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ไรเดอร์ให้ครบเพื่อความปลอดภัยของลูกค้า และน่าจะสามารถได้ไม่ยากเพราะเจ้าของห้างสรรพสินค้าหลายแห่งก็มีหุ้นอยู่ในบริษัท Delivery เหล่านั้นด้วย
"ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ศบค. เป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่ไม่ได้เข้ามาคลุกคลี หรือรับรู้ถึงปัญหาข้อเท็จจริงของผู้ประกอบการว่าเป็นอย่างไร ซึ่งนับตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบร้านอาหารจำนวนมากได้รับเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า และเป็นกลุ่มท้ายๆ จะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นพวกคนมีเงินไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง แต่ความเป็นจริงร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าหลายรายเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ทางสมาคมภัตตาคารไทยจึงได้พยายามหาทางช่วยเหลือมาโดยตลอด เช่น ประสานไปยัง ศบค. จนได้รับการช่วยเหลือและผ่อนปรนผ่านมาตรการต่างๆ มาตามลำดับ และต้องถือว่าการเปิดให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดจำหน่ายได้นั้น ถือเป็นการเปิดช่องทางรอดให้แก่ผู้ประกอบการ แต่ทางรอดอีกทางคือมาตรการจาก ศบศ. ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ เช่น มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ หรือลดค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ซึ่งทั้งสองหน่วยงานควรจะทำงานควบคู่ขนานกันไป"
รายงานแจ้งว่า สำหรับการเปิดให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าจำหน่ายสินค้าผ่านทางบริการ Delivery อย่างเดียวนั้น ทางสมาคมภัตตาคารไทย และผู้ที่ดูแลโดยตรงอย่างสมาคมค้าปลีกและสมาคมห้างสรรพสินค้า อยู่ระหว่างการจับตา 5-7 วัน ว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง ก่อนจะทำหนังสือถึง ศบค. เพื่อพิจารณาดำเนินการหรือให้ความช่วยเหลือต่อไป