กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เตียงล้นระบบแล้ว 3 เท่า เร่ง แปลงฮอสพิเทล 10% รองรับผู้ป่วยโควิดสีเหลืองได้กว่า 2,000 เตียง และจำเป็นต้องจัดหา เครื่องผลิตออกซิเจน จำนวนมาก ชี้ เจอปัญหาใหญ่มีการลักลอบนำออกไปนอกประเทศ
27 ก.ค.64 ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีการจราจรค่อนข้างมาก การล็อกดาวน์เหมือนไม่ค่อยล็อกดาวน์ ทำอย่างไรที่ตรงนี้จะเข้มข้น ซึ่งการควบคุมโรคที่ดีเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะฉะนั้น ทั้งท้องถิ่น พื้นที่ ชุมชน รวมถึงมาตรการของรัฐบาลต้องชัดเจน พยายามกดการะบาดให้ได้ ซึ่งตอนนี้สถิติการระบาดในกทม.ปริมณฑล เกินกำลังที่ระบบสาธารณสุขหรือเตียงรองรับได้ 3 เท่าแล้ว ระบบการรักษาพยาบาล บุคลากรยังยินดีทำงานเต็มที่ ดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยทุกคน แต่ขอความเห็นใจว่าล้นเตียงจริงๆ
“2-3วันที่ผ่านมามีข่าวห้องฉุกเฉินรพ.ต่างๆปิด ที่ต้องปิดเพราะจำนวนคนไข้ล้นเตียงที่รับสีเหลือง สีแดง รับข้างนอกไม่ได้เลย เพราะมีคนไข้กลุ่มนี้รอที่ห้องฉุกเฉิน เฉพาะที่รพ.ราชวิถีมีรอที่ห้องฉุกเฉินอีก 10 กว่าเตียง แปลว่าเมื่อเตียงข้างบนว่าง ต้องรับผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉินขึ้นไป โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรพ.กทม.ทั้งสังกัดโรงเรียนแพทย์ กทม. ตำรวจ ทหาร หรืออาจจะหมายถึงรวม รพ.เอกชนด้วย แต่บุคลากรหน้างานตั้งใจทำงานเต็มที่ ซึ่งการฉีดวัคซีนจะช่วยให้กลุ่มเสี่ยงลดความสุญเสียได้ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือช่วยกัน”นพ.สมศักดิ์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หดหู่! เพจดังเผยภาพผู้ป่วยโควิด19 จำนวนมากนอนเข้าคิวรอเตียง ข้างกองขยะ
วิกฤต! กทม.ขาดแคลนเตียงหนัก ผู้ป่วยใหม่กว่า 900 ราย ได้เตียงรักษาแค่ 28 คน
สปสช.ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอเตียงที่บ้าน-ชุมชน จับคู่คลิกนิกชุมชนดูแล
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงในกทม.ว่า เตียงสีแดงเหลืองทั้งรัฐและเอกชนตึงเต็มที่ ติดลบแล้ว หลายแห่งรับได้ 10 ใส่ 12 ทั้งเหลืองและแดงของรัฐและเอกชนตึง พอมีที่ว่างสำหรับเขียวพอทำHIมากๆ ตอนนี้กำลังรอเครื่องผลิตออกซิเจนในหลายๆส่วน ทั้งของรัฐและเอกชนเอง เพื่อทำฮอสพิเทลให้รับผู้ป่วยสีเหลืองให้สามารถรับคนไข้สีเหลืองที่จะเข้มขึ้นมาอีกนิด และต้องการออกซิเจนให้นอนในฮอสพิเทลได้
ซึ่งฮอสพิเทลในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีห้องประมาณ 20,000 ห้อง ถ้าแปลง 10 % จะมีเตียงสีเหลืองเพิ่มทันที 2,000 กว่าเตียง จะสามารถรับประชาชนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการสีเหลืองเข้ามาดูแลได้ แต่ตอนนี้ติดขัดเรื่องเครื่องผลิตออกซิเจนหรือถังออกซิเจนมากพอสมควร ได้ข่าวว่ามีการลักลอบนำออกไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะทางแถบชายแดนเมียนมา
นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า องค์การเภสัชกรรมยืนยันว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่สต๊อกในประเทศไทยมียาประมาณ 10 ล้านเม็ด และจะทยอยเข้ามา โดยเดือนหน้าจะเข้ามาทีละสัปดาห์ รวมแล้วประมาณ 40 ล้านเม็ดในเดือน ส.ค. ดังนั้น อัตราการใช้ไม่มีปัญหาเรื่องสต๊อกยา ขณะเดียวกันเดิมมีเรื่องเบิกยาค่อนข้างวุ่นวาย เราพยายามตัดขั้นตอนทั้งหมด ปัจจุบันมีความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ยกตัวอย่าง การทำโรงพยาบาลเสมือนจริง โดยเอาคนไข้ที่โทรเข้ามา 1668 มาขึ้นทะเบียนเป็น Home Isolation คนไข้ที่เริ่มมีอาการเราก็ส่งยาฟาวิพิราเวียร์ และเรายังมีภาคประชาสังคมต่างๆมาช่วยกัน ประสานเข้ามากรณีคนไข้เริ่มมีอาการ เราก็จะจัดส่งยาไปให้ หลักการเราเอื้อในส่วนนี้มากที่สุด
“ส่วนใครจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์นั้น หลักเกณฑ์คือ หากอาการดี ไม่มีโรคร่วมก็จะไม่ต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ก็กินยาลดไข้ หรือฟ้าทะลายโจร แต่ถ้ามีอาการ ขอให้เริ่มยาเร็วที่สุด ซึ่งตรงนี้เป็นแนวทางจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ทั้งโรงเรียนแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อ ระบว่า ต้องเริ่มยาให้เร็วที่สุดเมื่อเริ่มมีอาการ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว แต่ไม่มีอาการขอให้อยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ตรงนี้เป็นการป้องกันไม่ให้อาการสีเขียวเป็นสีเหลือง” นพ.สมศักดิ์กล่าว