"ม็อบแท็กซี่" ออกมารวมตัวเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือ หากรัฐบาลไม่มีความคืบหน้าและชัดเจนใน 7 ข้อเรียกร้อง แนวทางการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ชี้ ไม่ได้ขู่ เตรียมนำรถกว่า5,000คัน ไปจอดยึดสถานที่ราชการ หลัง 28 ก.ค.นี้
เข้าสู่วันที่ 3 แล้วที่กระทรวงการคลัง ทั้งบริเวณถนนพระรามที่ 6 ซอย 30 และฝั่งถนนเลียบคลองประปา ที่รถแท็กซี่ 160คัน ถูกนำมาจอดทิ้งไว้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่ จากผลกระทบในสถานการณ์โควิด-19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ทนนะจ๊ะ! แท็กซี่ เขียนข้อความใส่กระดาษแปะรอบคัน เพื่อระบายความในใจ
ญาติคาใจ จนท.ให้ผู้ป่วยโควิด19 วัย 62 นั่งแท็กซี่กลับบ้าน สุดท้ายดับสลด
ลุงแท็กซี่ กวาดใบไม้ใน รพ. เพื่อแบ่งเบาภาระ จนท. ที่ต้องทำงานหนักในช่วงนี้
นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย กล่าวว่า จากกรณีการเกิดโควิดระบาด แท็กซี่เป็นอาชีพที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ที่ผ่านมาได้รับการเยียวยาบ้าง แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมได้อย่างทั่วถึง เพราะมีรถให้บริการในระบบ 83,000 คัน แต่จากมาตรการของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการปิดสนามบิน การปิดห้าง และ work from home ในพื้นที่สีแดงเข้ม13จังหวัด ส่งผลกระทบโดยตรงกับรถแท็กซี่ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยผู้โดยสาร ทำให้แท็กซี่กว่า60,000คันไม่สามารถให้บริการได้ ซึ่งปัจจุบันมีแท็กซี่วิ่งให้บริการแค่กว่า 20,000คันเท่านั้น แต่รถที่ยังวิ่งอยู่ ก็ยังหารายได้ไม่เพียงพอในแต่ละวัน
รถแท็กซี่กว่า 60,000คัน ที่ไม่สามารถให้บริการได้นั้น ตอนนี้ก็ส่งผลกระทบเพราะไม่มีที่จอดรถ สหกรณ์ในระบบกว่า30สหกรณ์ ไม่มีรายรับ ไม่มีเงินไปจ่ายค่าเช่าที่ ก็เริ่มโดนไล่ที่กันแล้ว ทำให้เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมาแท็กซี่กว่า 2,000คันไม่มีที่จอดรถ จึงได้นำรถแท็กซี่มาจอดในสถานที่ราชการให้รัฐบาลได้เห็น เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะด้วยภาวะโควิด ไม่อยากให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ จึงไม่มีการรวมตัวกัน เพียงแค่นำรถมาจอดเท่านั้น
ส่วนกรณีความต้องการของแท็กซี่ ที่ต้องการเข้าสู่ระบบประกันตนตาม ม.40 แม้ทางกระทรวงแรงงานจะบอกว่าให้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ตาม ม.40ได้ แต่มองว่า ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการเยียวยา ว่าจะได้รับเงินเยียวยาเมื่อไร อย่างไร และทุกวันนี้คนขับแท็กซี่รอนานไม่ได้แล้ว เพราะชีวิตของคนขับแท็กซี่เป็นแบบวันต่อวัน เมื่อวานมีคนเสียชีวิตไป ก็ไม่ใช่รายแรกด้วย
ส่วนอีกข้อเรียกร้องที่ต้องนำรถมาจอดที่กระทรวงการคลังนั้น ก็เพราะต้องการเรียกร้องให้พักชำระหนี้ รถทุกคันที่อยู่ระหว่างการเช่าซื้อ โดยให้มาตรการครอบคลุมไปถึงบริษัทไฟแนนซ์ด้วย เพราะปัจจุบัน รัฐบาลมีมาตรการพักชำระหนี้เฉพาะธนาคารที่รัฐกำกับดูแลเท่านั้น
โดยนาย นายวิฑูรย์ ย้ำว่า ถ้ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีความคืบหน้าในการช่วยเหลือเยียวยา หลังวันที่28 ก.ค. จะนำรถแท็กซี่กว่า 5,000คัน ไปยึดสถานที่ราชการ ซึ่งนี่ไม่ใช่คำขู่ แต่พร้อมจะปฏิบัติ เพราะวันนี้แค่นำตัวอย่างมาให้รัฐบาลเห็นว่า ได้รับผลกระทบ รถไม่ทีที่จอดจริงๆ และได้มีสถานที่ในใจอยู่แล้วว่าจะไปที่ใด ทั้งนี้ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ต่างๆ ช่วยดูแลรถแท็กซี่ด้วย อย่ายกรถแท็กซี่ไป ถ้าต้องการรถแท็กซี่ ให้แจ้งมา พร้อมนำไปจอดให้ที่สถานีตำรวจด้วย ซึ่งการนำรถไปจอดของกลุ่มแท็กซี่จะไม่ทำให้เป็นปัญหาของสังคมและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนแน่นอน หวังว่า รัฐบาลจะรีบตัดสินใจ หาแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งถ้าช่วยอะไรไม่ได้ ก็ไม่ต้องให้ความหวังลมๆแล้งๆ
ส่วนข้อเรียกร้อง7ข้อ ที่เคยยื่นไปถึงนายกรัฐมนตรีนั้น ขณะนี้ มีข้อเดียวที่พอจะได้คำตอบ คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดหาที่จอดรถให้แล้วแต่ได้แค่ 150คัน ซึ่งยังไม่เพียงพอ เพราะที่จอดรถต้องรองรับได้กว่า 20,000คัน
สำหรับกลุ่มแท็กซี่ดังกล่าวนี้ ได้นำรถแท็กซี่ไปจอดในสถานที่ราชการแล้วทั้งหมด 4 แห่ง คือ กระทรวงการคลัง 160คัน กระทรวงพลังงาน กว่า100คัน ธนาคารแห่งประเทศไทย กว่า 100คัน และ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ถนนพิชัย กว่า 200คัน
ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มทั้ง7ข้อ ประกอบด้วย
1.ให้รัฐเยียวยา พักชำระหนี้ทั้งเงินต้น-ดอกเบี้ย
2.ให้รัฐเยียวยาเรื่องค่าปรับการผิดสัญญาค่าเช่าซื้อ
3.ให้รัฐช่วยจัดหางบประมาณเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ-ปลอดดอกเบี้ย เพื่อนำมาปรับปรุงสภาพรถ
4.ให้รัฐช่วยจัดหาที่จอดรถแท็กซี่มากกว่า 20,000 คัน
5.ให้คนขับรถเท็กซี่สามารถเข้าสู่มาตรา 40 ของกฎหมายแรงงาน
6.ให้รัฐบาลจัดถุงยังชีพให้กับคนขับรถแท็กซี่ กว่า 30,000 ถุง
7.ขอให้รัฐจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ฉีดให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึงโดยเร็วที่สุด