#สปริงนิวส์ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ 2 นักเศรษฐศาสตร์ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงเศรษฐกิจไทยมานาน ในประเด็นเรื่องมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ส่วนใหญ่เห็นว่าแค่บรรเทาเจ็บปวดให้ลูกหนี้ จะให้ดีต้องลดดอกเบี้ย 0% พักหนี้ยาวสิ้นปี ! ติดตามเรื่องนี้กันในบทความ
พักชำระหนี้2เดือน ต่อลมหายใจผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากจะต้องจับตาดูจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้นทะลุหมื่นคนทุกวันแล้ว ปัญหาเรื่องการเงิน หนี้สิน ปากท้องก็สำคัญมาก ๆ ในช่วงนี้ เพราะรายได้ผู้คนหดหาย ในขณะที่หนี้สิน ค่าครองชีพ ก็เดินต่อไปเหมือนสายน้ำเชื่อเหลือเกินว่าเรื่องนี้ทำเอาหลายคนกุมขมับกันเลยทีเดียว แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะจับมือกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องปิดกิจการ หรือคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของทางการ ซึ่งก็เป็นมาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
แต่...ในระยะยาวนั้นผู้คนก็กระเสือกกระสนในการหาเงินมาใช้หนี้สินอยู่ดี สำหรับคนที่ตกงานก็ต้องเร่งหางานใหม่ให้ได้ ส่วนคนทำงานอิสระ ค้าขาย ก็ต้องลุ้นรอฟ้าหลังฝนว่าจะสวยงามหรือไม่ ? เพราะก็ยังไม่มีใครบอกได้เลยจริง ๆ ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายตอนไหน และเศรษฐกิจ การทำมาค้าขายจะประกอบอาชีพกันได้เต็ม100 % วันใดไม่มีใครทราบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ส่องมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ‘ทีเอ็มบีธนชาต’ มีอะไรบ้าง ?
• วันแรก ! เปิดพักชำระหนี้ 2 เดือน ใครมีสิทธิ แบงก์ไหนเข้าร่วมบ้าง ?
• ดูชัด ๆ มาตรการพักหนี้ 2 เดือน ช่วยลูกหนี้พื้นที่ล็อกดาวน์ มีอะไรบ้าง ?
ฝ่ามุมมอง 2 นักเศรษฐศาสตร์ ควรทำอย่างไรต่อไป
วันนี้ #สปริงนิวส์ ได้สัมภาษณ์ 2 นักเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 ผ่านการโทรศัพท์สัมภาษณ์ และรูปแบบออนไลน์ เกี่ยวกับมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการเงิน หนี้สิน รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคนแรกคือ ‘ดร.นณริฏ พิศลยบุตร’ นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอมุมมองว่า มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน หรือลูกหนี้ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งสมมติว่าลูกหนี้เป็นหนี้ และมีระยะชำระหนี้ 1 ปี หากได้พักชำระหนี้ 2 เดือน ก็เท่ากับว่าแค่เลื่อนชำระบวกเพิ่มออกไปอีก 2 เดือน สุดท้ายก็ต้องกลับมาชำระอยู่ดี เรื่องนี้ทำให้เหมือนเป็นดินพอกหางหมู
ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างในระบบประกันสังคม มองว่าหากนำมาคิดเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทย เงินช่วยเหลือดังกล่าวจะสามารถช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือหากนำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้สินก็จะได้ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ดังนั้นถ้าหากสถานการณ์โควิด-19 ลากยากไปนานกว่า 2 เดือน เชื่อว่าลูกหนี้ก็จะกลับมาได้รับผลกระทบอีกตามเคย จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องลองประเมินดูสถานการณ์ และต่ออายุพักชำระหนี้ออกไปอีก
วอนแบงก์ลดดอกเบี้ยอีก-ยืดเวลาพักชำระออกไปต่อ
ทั้งนี้จะต้องขอความอนุเคราะห์แบงก์ทั้งหลายให้ปรับลดดอกเบี้ยลงบ้าง โดยเฉพาะดอกเบี้ยของการกู้รอบใหม่ เพราะที่ผ่านมา พบว่า ถึงแม้ว่าภาครัฐจะขอความร่วมมือให้แบงก์ต่าง ๆ ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลดบ้าง แต่สุดท้ายแบงก์ก็ต้องมาประเมินความเสี่ยงของผู้ขอกู้อยู่ดี ท้ายที่สุดอำนาจการตัดสินใจจะปล่อยกู้หรือไม่ปล่อย ก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้กู้ และอำนาจของแบงก์จะปล่อยกู้หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่แบงก์นั้น ๆ อยู่ดี จึงทำให้คำสั่งขอความร่วมมือลดดอกเบี้ยไม่ค่อยได้ผล ดังนั้นจึงต้องใช้คำว่าขอความอนุเคราะห์จากแบงก์จริง ๆในการช่วยลดดอกเบี้ยเพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน
นโยบายดอกเบี้ยควร 0% -พร้อมพักหนี้ถึงสิ้นปี'64
ด้าน ‘รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ’ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า นโยบายการเงินควรมีการพิจารณาดำเนินนโยบายดอกเบี้ย 0% และขยายเวลาการพักหนี้ไปอีกจนถึงสิ้นปี 2564 จนกว่าจะเริ่มเปิดประเทศได้ และเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้น พร้อมกันนี้ยังเห็นว่ารัฐควรมีการผ่อนคลายทางการเงิน และการคลังเพิ่มเติมอีก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องคงเผชิญกับแรงกดดันจากโควิด-19
‘รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ให้สัมภาษณ์วันที่ 21 ก.ค. 2564
ควรเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า
นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรเดินหน้าเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าเพื่อให้มีเงินมาดูแลสวัสดิการประชาชน ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่จำเป็นให้ชะลอไปก่อนเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายบริหารในสิ่งที่จำเป็น และเร่งด่วนมาก ๆ ก่อน โดยเฉพาะการนำเงินมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงนำเงินไปเดินหน้าแก้ไขการแพร่ระบาดให้ได้ในเร็ววัน
ทั้งหมดนี้ คือมุมมองจากนักเศรษฐศาสตร์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงเศรษฐกิจไทยมานาน ต่างมีความเห็นตรงกันว่าการพักหนี้ 2 เดือนช่วยแค่บรรเทาความเดือดร้อนในช่วงนี้ไปก่อน และอยากให้มีการยืดพักชำระหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยด้วย !