svasdssvasds

หมอเลี๊ยบ แนะ วิธีใช้ "ฟ้าทะลายโจร" อย่างถูกวิธี ลดอาการป่วยรุนแรงได้

หมอเลี๊ยบ แนะ วิธีใช้ "ฟ้าทะลายโจร" อย่างถูกวิธี ลดอาการป่วยรุนแรงได้

"นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" เขียนบทความ รอตรวจ รอเตียง อย่ารอตาย แนะ สู้โควิด-19 ด้วย "ฟ้าทะลายโจร" อย่างถูกวิธี ลดอาการป่วยรุนแรงได้ ระบุ มีสารบางอย่างในตัวยา Andrographolide โดยอ้างอิงผลวิจัยจาก รพ.รามาฯ

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี้ยบ อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" เกี่ยวกับการใช้ฟ้าทะลายโจรสู้กับโควิด-19 อย่างถูกวิธี โดยระบุว่า..

หลักการสำคัญของการรับมือกับโรคระบาดคือ

ก) การป้องกันไม่ให้ป่วย

ข) การควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด

ค) การรักษาโรคที่ได้ผล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด19ได้ไหม? และทานยังไงให้ถูกวิธี Springสรุปให้

ราชกิจจาฯ ประกาศเพิ่ม "ฟ้าทะลายโจร" ในบัญชียาหลัก รักษาผู้ป่วย “โควิด-19”

นายกฯ เผย ฟ้าทะลายโจร ใช้คู่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ช่วยบรรเทาโควิด-19

เมื่อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และทะลวงฝ่าวัคซีนทุกชนิดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในประเทศต่างๆ

สิ่งที่ตามมาคือ ถ้าประเทศใดมีการฉีดวัคซีนของกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว) ในอัตราต่ำ ผู้ป่วยหนักจะมีจำนวนมาก เตียงรองรับไม่ทัน มีผู้ป่วยตกค้างรอเตียงและกว่าที่จะเข้าสู่ระบบการรักษาได้ อาการก็ทรุดหนักและเสียชีวิตในเวลาอันสั้น ในทางกลับกันถ้าประเทศใดมีการฉีดวัคซีนของกลุ่มเสี่ยงในอัตราสูง แม้มีผู้ป่วยใหม่รายวันมาก แต่ผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจะมีจำนวนน้อย ไม่มีปัญหาเรื่องเตียงรองรับการรักษา

ดังนั้น ยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของการสู้โควิดจึงไม่ใช่อยู่ที่การกดจำนวน "ผู้ป่วยใหม่" แต่คือการกดจำนวน "ผู้ป่วยหนัก" เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถดูแลได้รวดเร็วและทั่วถึง จนมีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เฉกเช่นเดียวกับที่เราไม่สนใจมากนักกับตัวเลขผู้ป่วยรายวันของโรคประจำถิ่น อย่าง ไข้หวัดใหญ่หรือโรคหัด เพราะอัตราตายต่ำมาก ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจากโควิดมีจำนวนน้อย เราก็จะไม่จำเป็นเฝ้าระวังตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันของโควิดอีก

ถึงวันนี้ เราต้องยอมรับแล้วว่า การตั้งรับด้วยมาตรการส่วนบุคคลทำไม่ได้ 100% (ทำไม่ได้ทุกคนและทุกเวลา) การปิดประเทศไม่สามารถทำได้ตลอดไป ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนก็ไม่ยาวนานและอาจต้องมีการฉีดต่อเนื่องทุกปี ยิ่งมีการกลายพันธุ์ของโควิด วัคซีนยิ่งมีประสิทธิภาพลดลง และต้องพัฒนาวัคซีน generation ต่อไปไม่สิ้นสุดเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ส่วนการควบคุมโรคโดยการตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ (Regular Testing) การติดตามผู้สัมผัส (Tracing) และการแยกกักตัว (Isolation) นั้นทำได้ไม่ยากหากทุ่มเทสรรพกำลัง แต่เมื่อทำซ้ำๆเช่นนี้ไปอีก 2-3 ปี ทั้งสังคมจะอ่อนล้ามาก

ทางออกที่แท้จริงของการสู้โควิดคือ ต้องหายากินเพื่อหยุดการเพิ่มจำนวนของไวรัสตั้งแต่ระยะแรกที่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ให้ไวรัสมีปริมาณมากจนลงไปที่ปอด แล้วทำให้ผู้ป่วยอาการหนักจนเสียชีวิต ปัจจุบัน ยากินหลายชนิดที่กำลังวิจัยในระยะที่ 3 เช่น Molnupiravir ก็มีแนวคิดเช่นนี้ แต่ต้องกินทันทีหลังรับเชื้อ เมื่ออาการหนักแล้วยาจะไม่ได้ผล

ถึงวันนี้ที่มี “ผู้ป่วยวันละหมื่น ผู้เสียชีวิตวันละร้อย” ประชาชนรอตรวจและรอเตียงอย่างสิ้นหวัง ผมคิดว่า แทนที่จะรอความตาย เราต้องหาทางแก้ไขด้วยการให้ความสำคัญกับยาฟ้าทะลายโจรอย่างจริงจังเสียที

ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีงานวิจัยเรื่องการใช้ Andrographolide ซึ่งเป็นสารสำคัญในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาโควิดในคนด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่เข้มงวดแบบ Randomised Control Trial มาก่อน (แต่มีรายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพของ Andrographolide ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสได้ดีกว่ายาต้านไวรัสหลายชนิดเช่น Lopinavir, Ostelmivir และ Ritonavir จากการคำนวณโครงสร้างของโมเลกุล - in silico และทั้งผลลัพธ์จากการวิจัยในห้องทดลอง - in vitro)

ในประเทศไทยเคยเตรียมทำวิจัยเรื่อง Andrographolide ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยโควิดมีน้อยจึงชะลอไป และเพิ่งมาทำวิจัยกันใหม่ในการระบาดระลอก 2 โดยแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เชิญศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสยมพร ศิรินาวิน อาจารย์แพทย์รามาธิบดี ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านโรคติดเชื้อและระบาดวิทยาคลินิก อีกทั้งมีความเที่ยงตรงด้านระเบียบวิธีวิจัย เป็นผู้วิจัยร่วมและตรวจสอบความถูกต้องของการวิจัย

อาจารย์สยมพรบอกผมว่า อาจารย์ไม่เคยสนใจเรื่องฟ้าทะลายโจรมาก่อน จึงอยากพิสูจน์ว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล และเมื่อผลวิจัยปรากฎออกมาว่า Andrographolide ยับยั้งอาการหนักในผู้ป่วยโควิดได้ อาจารย์สยมพรจึงสนับสนุน Andrographolide อย่างสุดกำลัง

จากการวิจัยแบบ Randomised Control Trial ในกลุ่มตัวอย่าง 57 คนที่สมุทรปราการและนครปฐม พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มควบคุม (control) ซึ่งกินยาหลอก (placebo) มีอาการปอดบวม 10.7% ส่วนคนที่กิน Andrographolide ไม่มีผู้ป่วยปอดบวมเลยแม้แต่คนเดียว (0%)!

อาจารย์สยมพรต้องการเพิ่มจำนวนตัวอย่างที่วิจัยมากขึ้น จึงเก็บข้อมูลย้อนหลัง (Retrospective Cohort study) ในกลุ่มตัวอย่าง 539 คนที่จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐมและราชบุรี พบว่า กลุ่มควบคุม (control) ที่ไม่ได้รับ Andrographolide มีปอดบวม 24% หรือ 71 คน ส่วนกลุ่มที่ได้รับ Andrographolide มีปอดบวมเพียง 0.4% หรือ 1 คน และคนที่มีปอดบวม ได้รับ Andrographolide ช้า คือกินยาเมื่อรับเชื้อแล้วถึง 11 วัน

ขนาดยา Andrographolide ที่ใช้ในการวิจัยคือ 180 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกัน 5 วัน แคปซูลยาที่ใช้ในการวิจัยมีสารสกัด Andrographolide 20 มิลลิกรัม จึงให้กินวันละ 9 แคปซูล หรือ 3 แคปซูล 3 เวลาก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น

แคปซูลฟ้าทะลายโจรในท้องตลาดมีปริมาณสารสกัด Andrographolide ไม่เท่ากัน ดังนั้น จำนวนแคปซูลที่กินก็ต้องแตกต่างกันไป เช่น แคปซูลฟ้าทะลายโจรของอภัยภูเบศร์มีสารสกัด Andrographolide 12 มิลลิกรัม จึงต้องกินวันละ 15 แคปซูล หรือ 5 แคปซูล 3 เวลาก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น

ถ้ากินฟ้าทะลายโจรไม่ถูกวิธี ไม่ถึงขนาดที่ใช้ในงานวิจัย คือได้รับ Andrographolide น้อยกว่า 180 มิลลิกรัมต่อวัน จะไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้

เมื่อมีการระบาดใหญ่ในเรือนจำตอนกลางเดือนพฤษภาคม อาจารย์สยมพรโทรศัพท์มาเล่าให้ผมฟังถึงผลการวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับ Andrographolide ของอาจารย์ และขอให้ผมแจ้งผู้รับผิดชอบของเรือนจำ เพื่อจ่ายยาฟ้าทะลายโจรแก่ผู้ต้องขังในแดนต่างๆที่มีการระบาดทุกคน (เนื่องจากสภาพแวดล้อมในเรือนจำทำให้ทุกคนเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง) ผมจึงส่งผ่านข้อมูลไปให้ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หลังจากนั้นทราบว่า มีการจัดยาฟ้าทะลายโจรให้ผู้ต้องขังอย่างทั่วถึง

น่าดีใจว่า เมื่อพิจารณาตัวเลขผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตสะสมในเรือนจำจนถึงสัปดาห์ที่แล้วพบว่า มีอัตราต่ำกว่าผู้ป่วยโควิดภายนอกเรือนจำอย่างมีนัยสำคัญ (อัตราผู้เสียชีวิตในเรือนจำ : อัตราผู้เสียชีวิตของทั้งประเทศ เท่ากับ 0.12% : 0.87%)

ผมจึงสรุปกับตัวเองว่า หากเราให้ผู้ป่วยกิน Andrographolide ทันทีที่ตรวจพบเชื้อ ในทางทฤษฎี Andrographolide จะไปยับยั้งเอ็นไซม์ Main Protease (Mpro) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวน เมื่อไวรัสเพิ่มจำนวนไม่ได้ อาการป่วยจึงไม่รุนแรง ไวรัสไม่ลงปอด ไม่มีปอดบวม ผู้ป่วยไม่ต้องเข้า ICU และไม่เสียชีวิต ผลที่ตามมาคือ ลดจำนวนผู้ป่วยหนัก ช่วยแก้ปัญหาเตียงไม่พอและขาดแคลนแพทย์พยาบาล จนระบบสาธารณสุขล่มได้

ตอนสู้กับไข้หวัดนก นักระบาดวิทยาผู้มีชื่อเสียงระดับโลกของกรมควบคุมโรคคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เราใช้ Tamiflu (Oseltamivir) ทันทีเมื่อรู้ว่าผู้นั้นสัมผัสโรคใกล้ชิด โดยไม่รอผลการตรวจหาเชื้อ ปรากฎว่า ช่วยลดอัตราตายลงไปได้มาก กลายเป็นตำนานของการควบคุมโรค H5N1 Influenza (Oseltamivir สกัดจากโป๊ยกั๊กซึ่งเป็นสมุนไพรจีน)

ดังนั้น ถ้าเราส่งเสริมให้ใช้ Andrographolide ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยและผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงทันที น่าจะช่วยลดอัตราการป่วยหนักจากปอดบวม และลดอัตราตายได้ Andrographolide อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game Changer) โดยไม่ต้องรอ Molnupiravir ซึ่งไม่ทราบว่าจะรายงานผลการวิจัยระยะที่ 3 เมื่อใด จะได้รับอนุมัติจาก FDA ของอเมริกาเมื่อใด จะวางขายเมื่อใด และราคาขายจะเป็นเท่าไร (ปัจจุบัน สารสกัด Andrographolide ตามขนาดที่ใช้ 180 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกัน 5 วัน ราคาประมาณ 200 บาท)

กระทรวงสาธารณสุข และ กรมการแพทย์ผู้รับผิดชอบจัดทำ Clinical Practice Guideline (CPG) ควรรีบแก้ไข CPG โดยบรรจุ Andrographolide ในตำรับยาที่ใช้รักษาโควิด เพราะโรงพยาบาลบางแห่งยังสั่งห้ามผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยกินยา Andrographolide เพราะอ้างว่าไม่มีระบุไว้ใน CPG

ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ควรบรรจุ Andrographolide ในชุดเครื่องใช้จำเป็นสำหรับผู้ป่วยมีอาการน้อยที่กักตัวที่บ้านและชุมชน เพิ่มจากการให้ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Oximeter) ที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งแจกจ่ายให้ผู้มาตรวจคัดกรองในหน่วยตรวจโควิดเคลื่อนที่ทุกคนเพราะประชาชนเหล่านั้นต่างเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งสิ้น

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพควรเสริมบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่ 1,050,000 คนให้สามารถแนะนำการใช้ Andrographolide ในฟ้าทะลายโจรแก่ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยและผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงอย่างถูกวิธี

เราตามหาวัคซีนและยาไปทั่วโลก สุดท้ายพบว่า ทางออกที่แท้จริงอาจอยู่ในบ้านเราเอง

related