svasdssvasds

สธ. ปรับ 4 มาตรการควบคุมโควิด จัดวัคซีนบูสเตอร์โดสให้บุคลากรการแพทย์

สธ. ปรับ 4 มาตรการควบคุมโควิด จัดวัคซีนบูสเตอร์โดสให้บุคลากรการแพทย์

สธ. ปรับ 4 มาตรการควบคุมโรค จัดหาวัคซีนบูสเตอร์โดสให้ บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า เร่งฉีดวัคซีน 2 กลุ่มเสี่ยง เฉพาะพื้นที่ กทม.ให้ได้ 70% ในเดือนนี้ พร้อมเสนอ Work From Home ใส่หน้ากากที่บ้านและที่ทำงาน เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหาร แถลงข่าวการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด 19 โดย นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นมาเป็นวันละ 6 พันราย ส่วนใหญ่ยังอยู่ใน กทม. และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากประชาชนที่เดินทางมาจาก กทม. มีลักษณะกระจายตัว ควบคุมดูแลได้

"ที่น่าห่วงคือ กทม.ที่เป็นเมืองใหญ่ เมื่อมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้ดูแลพื้นที่โดยตรง จึงเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง เช่น เปิดเตียง รพ.บุษราคัมเพิ่ม ดูแลผู้ป่วยอาการปานกลาง สีเหลือง 1,500 เตียง และสัปดาห์นี้ได้ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ เปิดเตียงไอซียูดูแลผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) รวมกันมากกว่า 100 เตียงทันที และประสานส่งต่อให้เข้ารับการดูแลรักษาทุกคน" นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าว           

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ผงะ! กรมวิทย์ฯ เผย โควิดสายพันธ์"เดลต้า"กระจายทั่ว กทม. เกิน 50 เปอร์เซนต์

ด่วน! "นายกฯ" กักตัว หลังใกล้ชิดคนติดโควิด ร่วมงานเปิด "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์"

สาธิต ตอบแล้ว ปมขอฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากใน กทม.และปริมณฑล กรมควบคุมโรคได้เสนอปรับมาตรการควบคุมโรคให้เหมาะสมใน 4 มาตรการ คือ

1.การค้นหาผู้ติดเชื้อ ดูแลรักษา แยกกัก และควบคุมโรค เน้นผู้สูงอายุและผู้เสี่ยงป่วยรุนแรง

2.การจัดการเตียง มีการกักตัวดูแลรักษาที่บ้าน หากมีอาการมากขึ้นจะส่งต่อเข้ารักษา

3.มาตรการวัคซีน โดยจัดวัคซีนบูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ โดยคณะวิชาการจะพิจารณาว่าจะใช้วัคซีนตัวไหนแต่จะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศเดินหน้าให้บริการประชาชนได้ รวมถึงเน้นฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค โดยวัคซีนที่จะได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ร้อยละ 80 จะฉีดให้ 2 กลุ่มนี้ เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และปรับจากการฉีดปูพรม มาฉีดกลุ่มเฉพาะเน้นควบคุมโรคในพื้นที่ระบาด

4.มาตรการทางสังคมและองค์กรก่อนเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่

"การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การควบคุมโรค 4 มาตรการนั้น เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนร่วมกันดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อ ไม่นำเชื้อมาติดผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางที่บ้าน ใส่หน้ากาก ล้างมือ วัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่เดินทางไปสถานที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็น และจะใช้มาตรการวัคซีนร่วมด้วย หากทำตามแผนจะทำให้การระบาดของโรคลดลงได้ มีปริมาณเตียงเพียงพอรับผู้ป่วย และพยายามให้ทุกคนในประเทศมีภูมิคุ้มกัน ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ กลับไปใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มัล" นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการควบคุมโรคในต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่มีการติดเชื้อไม่มาก จะเฝ้าระวังผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่ไปโรงพยาบาล ผู้ป่วยปอดอักเสบ และมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง การสอบสวนโรค ค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อกักกันโรคตามความเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ ค้นหาเชิงรุกในชุมชนเข้มข้น ส่วน กทม.และปริมณฑล ช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ จะปรับมาตรการให้สอดคล้อง โดยเน้นปกป้องผู้สูงอายุและผู้เสี่ยงป่วยอาการรุนแรง คือ

1.จัดทำฟาสต์แทร็กหรือทางด่วนสำหรับ 2 กลุ่มนี้ให้ได้รับการตรวจลำดับแรกๆ รักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

2.บุคคลกลุ่มอื่นจะปรับการตรวจการติดเชื้อไปจุดอื่น เช่น หน่วยตรวจเชิงรุก คลินิกชุมชน เป็นต้น  

3.ปรับการสอบสวนควบคุมโรค เน้นไม่ให้เกิดกลุ่มก้อนใหญ่ (คลัสเตอร์) หาจุดเสี่ยงการระบาดใหญ่ให้ทันเวลา การสอบสวนเฉพาะราย (ไทม์ไลน์) ให้แต่ละจุดตรวจดำเนินการแทน

4.การควบคุมเชิงรุกในจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดการระบาดวงกว้าง (ซูเปอร์ สเปรดเดอร์) ทำมาตรการ Bubble and Seal ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว แคมป์ก่อสร้าง โรงงานสถานประกอบการ ตลาดสด ตลาดขนาดใหญ่ ชุมชนแออัด เรือนจำ สถานพินิจ แหล่งรวมตัวใหญ่ๆ เนอร์สซิ่ง แคร์ผู้สูงอายุ ร่วมกับทาง กทม.

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการวัคซีนนั้น เดือนกรกฎาคมนี้ตั้งเป้าหมายไว้ 10 ล้านโดส จะกระจายทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2-2.5 ล้านโดส เน้นในผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยมีอาการรุนแรง โดยในพื้นที่ กทม.มีประมาณ 1.8 ล้านคน จะระดมฉีดให้ได้ร้อยละ 70 ภายใน 2 สัปดาห์ ปริมณฑลฉีดให้ครบในกรกฎาคมนี้ และจังหวัดอื่นฉีดภายในสิงหาคมนี้ ส่วนการฉีดเพื่อควบคุมการระบาดโดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่จะระบาดในวงกว้าง เช่น โรงงาน ตลาด เป็นต้น จะฉีดวัคซีนชุมชนโดยรอบเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูง และกลุ่มที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง สำหรับการยกระดับมาตรการสังคมและองค์กร โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ต้องบังคับมาตรการ Work From Home ในสถานที่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นหน่วยบริการป้องกันควบคุมโรค หรือรักษาพยาบาล และในสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ให้ได้ร้อยละ 70 และสื่อสารให้ประชาชนเพิ่มความเข้มข้นมาตรการส่วนบุคคล ประยุกต์หลักการ Bubble and Seal มาใช้กับตัวเองและครอบครัว เนื่องจากส่วนใหญ่ติดเชื้อที่บ้านและที่ทำงาน จึงขอให้ใส่หน้ากากให้มากที่สุด ทั้งบ้านและที่ทำงาน งดกิจกรรมอื่นที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกัน และระมัดระวังการเดินทาง

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มขึ้นเกือบ 1 หมื่นรายในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยวันที่ 4 มิถุนายนมีผู้ป่วยครองเตียง 19,430 ราย วันที่ 4 กรกฎาคม มีผู้ป่วยครองเตียง 28,247 ราย เพิ่มขึ้นทุกระดับความรุนแรง ทั้งสีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยสีแดงเพิ่มจาก 657 ราย เป็น 1,130 ราย หรือต้องใช้เตียงไอซียูเพิ่มเท่าตัวใน 1 เดือน มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจจาก 200 กว่ารายเป็นเกือบ 400 ราย บุคลากรด่านหน้ามีจำนวนเท่าเดิมแต่ภาระงานเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การปรับมาตรการทางการแพทย์จะปรับระบบการรักษาโดยเน้นลดการเสียชีวิต ได้แก่ 1.การเพิ่มเตียงและเปิดโรงพยาบาลสนามผ่านการบูรณาการของ 5 เครือข่าย คือ กทม. กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลทหารตำรวจ  โดยเพิ่มเตียงในทุกระดับสี 2.ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการดำเนินการมาตรการ Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งเริ่มแล้วใน กทม.และปริมณฑล เฉพาะของโรงพยาบาลกรมการแพทย์ดูแลผู้ป่วย Home Isolation แล้วเกือบ 100 ราย และวันนี้จะหารือภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และเอกชนทำ Community Isolation

“ที่ผ่านมาเราไม่อยากใช้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านและชุมชนถ้าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ตึงมือจริงๆ เพราะหากอาการแย่ลงที่บ้านจะไม่มีการดูแล และอาจแพร่เชื้อในบ้านและชุมชน หากแยกตัวเองไม่ได้ แต่สถานการณ์ตอนนี้บุคลากรหน้างานมีความเหนื่อยล้าต้องนำมาตรการมาใช้ โดยแจกเครื่องมือปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และมีการ เทเลเมดิซีนติดตามอาการคนไข้ทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ถ้ามีอาการรุนแรงมีการจ่ายยาให้ที่บ้าน หากอาการแย่ลงจริงๆ จะมีการส่งต่อรักษา ส่วนการให้ผู้ป่วยอยู่บ้านไม่ออกไปซื้ออาหารข้างนอก ทาง สปสช.มีการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลซื้ออาหาร 3 มื้อส่งให้ผู้ป่วยถึงบ้าน ซึ่งประกันสังคมอยู่ระหว่างการหารือเพื่อให้สิทธิด้วย ตอนนี้เราพยายามปรับเปลี่ยนสถานการณ์เพื่อให้ระบบสาธารณสุขอยู่ได้ และบุคลากรไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไป” นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว

related