คลายปมสงสัย คำถามจากยูโร 2020 ว่าทำไมนักเตะทีมชาติอิตาลีจึงร้องเพลงชาติแบบตะเบ็งสุดเสียง มีอินเนอร์กลั่นออกมาจากหัวใจกันทุกคน เรื่องนี้คำตอบแบบเอาให้หายสงสัย...ก่อนที่คืนนี้ศึกยูโร 2020 อิตาลีจะดวลกับ ออสเตรีย ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย
กู่ตะโกนร้องเพลงชาติอิตาลี
เป็นที่น่าสังเกตในศึกยูโร 2020 หลายๆสื่อวงการกีฬา ใครหลายคนมักจะหยิบยกเอาภาพ นักเตะอิตาลี ขณะร้องเพลงชาติอิตาลีก่อนเกมการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 3 นัดในรอบแรกยูโร 2020 ขุนพลอิตาลี ภายใต้การคุมทีมของโรแบร์โต้ มันชินี่ ก็ตะเบ่งเสียงร้องเพลงแบบสุดชีวิตสุดหัวใจเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยน เอามาแซวในโลกออนไลน์ และเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างแน่นอน
สำหรับข้อสงสัยในจุดนี้ เคยมีการพยายามหาคำอธิบายจากหลายที่มา อาทิ สาเหตุที่ทำให้นักเตะอิตาลีต้องร้องเพลงสุดเสียง เปล่งพลังออกมาจากปอดทั้ง 2 ข้าง นั้นเป็นเพราะ เพลงชาติอิตาลี มีเนื้อหาที่ดุดันและทรนงในความยิ่งใหญ่ของประเทศตัวเอง บวกกับดนตรีที่ปลุกเร้ามันก็เป็นไปได้ว่าผู้เล่นของทีมชาติอิตาลีในแทบทุกชนิดกีฬาจะสามารถเข้าถึงเพลงชาติได้อย่างง่ายได้ เมื่อนักกีฬามีจินตนาการได้ถึงการออกรบของเพื่อสร้างเกียรติให้ประเทศได้เหมือนในอดีตที่กล่าวไว้ในเพลงชาติ
1- การร้องเพลงชาติของอิตาลีนั้น ไม่ได้มีโอกาสกันบ่อยๆ ดังนั้น ทุกคนที่ดูการถ่ายทอดสดจะเห็นนักเตะอิตาลี รวมถึงสต๊าฟโค้ชตะเบ็งสุดเสียง ผ่านหน้าจอทีวี ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก
2- มันเป็นเพลงชาติ นั่นแปลว่า คนที่ร้องกำลังแสดงตัวของชาติอยู่
3- เพลงชาติอิตาลี เป็นสิ่งที่คนอิตาเลี่ยนให้ความสำคัญมาก ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกเขาเป็นหนึ่งในชาติยุโรปที่มักจะทำตัวสบายๆ ในเรื่องชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ คือค่อนข้างจะแตกต่างกับ คนเยอรมนีที่มีความระเบียบจัด แต่เมื่อสถานการณ์ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่จริงจัง คนอิตาลีจะแสดงความสามารถที่แท้จริงออกมา และการร้องเพลงชาติอิตาลีให้เสียงดังนั้นเป็นเหมือนการปลุกเร้าวิญญาณนักสู้ในตัวให้ตื่นขึ้น
ทำความรู้จักเพลงชาติอิตาลี
ความจริงแล้ว เพลงชาติอิตาลี มี 3 ชื่อเรียก คือ 1. 'Inno di Mameli' ( เพลงของเมเมลี่ หรือชื่อคนแต่ง) 2. Il Canto degli Italiani ที่แปลว่า "เพลงเพื่ออิตาเลียน" และ 3 Fratelli d' Italia ซึ่งเป็นเนื้อเพลงท่อนแรกของเพลงชาติอิตาลี
โดยเนื้อหาของเพลงชาติอิตาลี ก็คล้ายๆกับชาติอื่นๆในทั้งโลก ที่พูดเรื่องชาติ เรื่องความปลุกใจ โดย เนื้อเพลงของเพลงนี้แต่งขึ้นปี 1847 จาก กอฟเฟรโด้ มาเมลี ซึ่งเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่เมืองเจนัว ซึ่งเขาเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 21 ปีเท่านั้นและเขาแต่งเพลงนี้ ก่อนเสียชีวิตแค่ 1 ปี
และเมื่อเนื้อเพลงประกอบเข้ากับจังหวะดนตรีในแบบของชาติที่เจริญด้านศิลปะและรสนิยมอย่าง อิตาลี พวกเขาเลือกจะใช้ทำนองที่เร็วและจังหวะที่ชวนฮึกเหิมซึ่งทำให้เพลงนี้เป็นเพลงที่ใช้ปลุกเร้าคนในประเทศได้อย่างไร้ที่ติ
โดยสถานการณ์ในตอนที่ กอฟเฟรโด้ แต่งเพลงนี้ คือช่วงเวลาที่ประชาชนในประเทศต่อสู้เพื่อการรวมชาติและการทำสงครามปลดแอกจากจักรวรรดิออสเตรีย ก่อนจะถูกบรรจุให้เป็นเพลงชาติในวันที่ 12 ตุลาคม 1946 และถูกบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2005 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้วนี่เอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นอยเออร์ ใส่ปลอกแขนสีรุ้ง สนับสนุน LGBTQ ในยูโร 2020 ชูความเท่าเทียมทุกเพศ
โรนัลโด้เอฟเฟกต์ ยูฟ่าขู่ปรับเงิน หากขยับเครื่องดื่มสปอนเซอร์ยูโร 2020
ตารางบอลยูโร 2020 รอบ 16 ทีม จนถึงรอบชิงฯ เยอรมนีชนอังกฤษบิ๊กแมตช์รอบสอง
ยิ่งดังยิ่งปลุกใจ
สำหรับ การร้องเพลงชาติอิตาลีที่ดังสุดชีวิต ไม่ใช่สักแต่ว่าร้องตะโกนเอาให้สุดเสียงไปอย่างนั้น เพราะแท้ที่จริงแล้ว มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิชากรพยายามหาเหตุผลเพื่อมารองรับกับสิ่งนี้
จากการเก็บสถิติจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หรือในยูโร 2016 งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย สแตฟฟอร์ดเชียร์ โดยมีการลงสำรวจค้นคว้าทั้ง 51 เกมในศึกยูโร 2016 เพื่อสังเกตถึงปฎิกิริยาของนักเตะแต่ละชาติที่ร้องเพลงชาติ ซึ่งพวกเขาพบว่าทีมชาติใดที่มีนักเตะที่แสดงอารมณ์ร่วมผ่านการออกเสียงและสีหน้า รวมถึงการรวมพลังอาทิการโอบไหล่ร้องเพลงไปพร้อม ๆ กัน จะได้ผลการแข่งขันที่ดีกว่า
โดยวารสาร European Journal of Sport Science และมีการค้นคว้าเพิ่มเติมว่าผลกระทบของแพชชั่น(มุ่งมาดปรารถนา) ในการร้องเพลงชาติจะส่งผลถึงชัยชนะมากขึ้นเมื่ออยู่ในการแข่งขันรอบน็อคเอาต์ที่จะเห็นผลชัดมาก ทว่าสำหรับรอบแบ่งกลุ่มนั้นถือว่ายังไม่ส่งผลมากเท่าไรนัก
"การร้องเพลงชาติให้ดังสั่นเป็นการแสดงคาแร็คเตอร์และเร่งเราให้ตัวเราดูมีความอันตรายมากขึ้น มันคือการข่มขวัญผู้ต่อสู้ เรื่องนี้มันคล้าย ๆ การเต้น ฮาก้า ของทีมรักบี้ของทีมชาตินิวซีแลนด์นั่นแหละ มันส่งผลคล้าย ๆ กัน ตัวของคุณจะใหญ่ในสายตาของคู่แข่ง มันเป็นเช่นนั้นเอง" แมทธิว สเลเทอร์ หัวหน้าทีมวิจัยให้ข้อมูล
เสียงตะโกนและจับที่หัวใจ
ยูโร 2020 รอบ 16 ทีมสุดท้าย อิตาลี - ออสเตรีย ในค่ำคืนนี้ เวลา 02.00 น. ทุกคนที่ติดตามรับชม คงจะได้เห็น นักเตะทีมชาติอิตาลี ภายใต้สมญานาม "อัซซูรี่" กู่ก้องร้องตะโกนเพลงชาติอีกครั้ง
ภาพนักเตะอิตาลี เปล่งบทเพลงชาติออกมา พร้อมกับ มือที่เกาะกุมหัวใจจากทั้งแฟนบอล คงจะกลายเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่ง เป็นอีกตัวแทน และเป็นอีก "ภาพจำ" ของการแข่งขันฟุตบอลยูโร2020 รวมถึงทัวร์นาเมนต์ระดับชาติ เพราะ นักเตะอิตาลี สร้างอัตลักษณ์จากการ ร้องเพลงชาติสุดเสียง มาแต่ไหนแต่ไร...