กระทรวงสาธารณสุข แจง แผนกระจายวัคซีนโควิด-19 งวดแรก 7-20 มิ.ย. 3 ล้านโดส เป็นไปตามแผน กรุงเทพมหานครได้รับวัคซีนสูงสุด เผยการจัดสรรวัคซีนต้องพิจารณาข้อมูลวิชาการ สถานการณ์การระบาด และความจำเป็นของพื้นที่
วันนี้ (14 มิถุนายน 2564) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับทุกคนในประเทศไทย โดยจัดหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องได้ร้อยละ 70 ของประชากร คิดเป็น 50 ล้านคนหรือ 100 ล้านโดส ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงปัจจุบันมีวัคซีนแล้ว 8.1 ล้านโดส เป็น แอสตร้าเซนเนก้า 2.1 ล้านโดส และซิโนแวค 6 ล้านโดส มีการฉีดวัคซีนสะสม 6.2 ล้านโดส โดย กทม.ฉีดสูงสุด 1,716,394 โดส คิดเป็นร้อยละ 27.7 แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1,346,993 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 369,401 โดส ทั้งนี้ วัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน จึงต้องสั่งซื้อโดยการจอง เป็นลักษณะของการผลิตไปทยอยจัดส่งไป เพื่อให้วัคซีนถึงประชาชนเร็วที่สุด ดังนั้นจึงมีการทำสัญญากำหนดว่าจะทยอยส่งเป็นงวดๆ
สำหรับการจัดสรรวัคซีนพิจารณาทั้งข้อมูลวิชาการ พื้นที่ จำนวนประชากร สถานการณ์การระบาด นโยบายอื่นๆ ของจังหวัด ทำให้แต่ละจังหวัดได้รับสัดส่วนวัคซีนแตกต่างกัน ส่วนการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย
จะเน้นที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ติดเชื้อ/สอบสวนป้องกันโรค ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ฉีดได้เกือบครบ 100% แล้ว รวมถึงบุคลากรด่านหน้าอื่นๆ เช่น ตำรวจ ทหาร อสม. สำหรับการฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นวาระแห่งชาติ มีเป้าหมายฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพราะหากติดเชื้อมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเปิดจองวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อมล่วงหน้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ยังฉีดให้กลุ่มเป้าหมายเฉพาะอื่นๆ เช่น ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมการเปิดเทอม ผู้ทำงานขนส่งสาธารณะ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับประชาชน และกลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพื่อให้มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไป
ทั้งนี้ เดือนมิถุนายนวางแผนการกระจายวัคซีนเป็น 2 งวดครอบคลุมการฉีดในระยะ 2 สัปดาห์ โดยงวดแรกฉีดตั้งแต่วันที่ 7-20 มิถุนายน ประมาณ 3 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 1 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส จัดส่งไปยัง กทม.แล้ว 5 แสนโดส ประกอบด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส นอกจากนี้ ได้ส่งให้สำนักงานประกันสังคม 3 แสนโดส เป็นการฉีดใน กทม.เป็นหลัก และมหาวิทยาลัย 11 แห่งตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อีก 1.5 แสนโดสฉีดใน กทม.เป็นหลักเช่นกัน ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งตามแผนต่อไป ส่วนงวดที่ 2 สำหรับวันที่ 21 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม อีก 3.5 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส รวมจำนวนมากกว่า 6.5 ล้านโดส