svasdssvasds

สรุปให้ ดราม่า กระทรวงสาธารณสุข VS กทม. ปัญหาอยู่ที่วัคซีนไม่มาตามนัด

สรุปให้ ดราม่า กระทรวงสาธารณสุข VS กทม. ปัญหาอยู่ที่วัคซีนไม่มาตามนัด

ดราม่าสนั่น กระทรวงสาธารณสุข VS กทม. จากกรณี กทม.โยนระเบิดกลับ ฉีดไม่ได้ตามแผน เพราะวัคซีนไม่มาตามนัด จนต้องมีการแถลงข่าวร่วมกัน โดย กทม. ยืนยัน วัคซีนมาเมื่อไหร่ ก็พร้อมฉีดให้ประชาชนทันที

การฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรม เริ่มดีเดย์เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา แม้ตัวเลขอยู่ในระดับค่อนข้างโอเค เฉลี่ย 3 แสนโดสต่อวัน บางวันก็ทะลุไป 4 แสน แต่แล้วก็เกิดดราม่าสนั่นเมือง ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ กทม. จนต้องมีการแถลงข่าวร่วมกัน ยืนยันไม่มีความบาดหมาง โดย SPRiNG ขอ #สรุปให้ ดังต่อไปนี้

1. ลุ้นตั้งแต่ล็อตแรก วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะเข้ามาหรือไม่ ?

ย้อนไปเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลประกาศจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ปูพรมทั่วประเทศ วันที่ 7 มิ.ย. แต่ตอนนั้นก็มีความกังวลว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะเข้ามาตามนัดหรือเปล่า และในที่สุดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกก็เข้ามาจำนวน 1.8 ล้านโดส จากเดิมที่ประกาศว่า จะเข้ามา 6 ล้านโดส โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าจะเข้ามาเป็นล็อตๆ จนครบตามจำนวนที่กำหนด

อนุทิน

2. หลายโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เลื่อนนัดฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย. ผ่านไปได้ แต่ช่วงปลายสัปดาห์ก็มีสัญญาณที่ไม่สู้ดีนัก ไม่ว่าเป็นการฉีดวัคซีนในโควต้าของกลุ่มประกันสังคม ที่จู่ๆ ก็ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปไกล เป็นวันที่ 28 มิ.ย. โดยให้เหตุผลในเรื่องข้อจำกัดของสถานที่ต่างๆ ที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ฯลฯ ก่อนจะกลับลำแจ้งว่า สามารถฉีดวัคซีนได้ตามแผนเดิมที่วางไว้ สร้างความสับสนและงุนงงให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก

นอกจากกรณีของกลุ่มประกันสังคม ในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพฯ แจ้งขอเลื่อนฉีดวัคซีนในช่วงวันที่ 14 มิ.ย. ออกไป แต่ที่พีทสุดๆ ก็คือกรณีของโรงพยาบาลนมะรักษ์ ได้โพสต์ข้อความเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปอย่างไม่มีกำหนด หรือจนกว่าจะได้วัคซีน และหากมีข้อสงสัย ให้ติดต่อ รมว.สาธารณสุข

ต่อมา รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลนมะรักษ์ ก็ได้ไลฟ์สดชี้แจง พร้อมทั้งแนะว่า ให้พูดความจริงกับประชาชน อีกทั้งยังมีการเปิดโปงว่า มีผู้ติดต่อเข้ามาให้คุณหมอลบโพสต์ จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนข้อความ จากติดต่อ รมว.สาธารณสุข เป็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

3. จุดเริ่มต้นดราม่า กระทรวงสาธาณสุข VS กทม.

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้แสงสปอร์ตไลต์ สาดส่องไปยังกระทรวงสาธารณสุข และเป็นจุดเริ่มต้นดราม่า เมื่อเพจของกระทรวงสาธารณสุขได้โพสต์ข้อความว่า

“กระทรวงสาธารณสุข จัดสรรวัคซีนตามที่ ศบค.กำหนด เพื่อส่งไปยังทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ส่วนการจัดสรรวัคซีนไปยังหน่วยฉีดของแต่ละจังหวัด เป็นหน้าที่ของจังหวัดนั้นๆ และ กทม.ดำเนินการเอง”

4. กทม. โยนระเบิดกลับกระทรวงสาธาณสุข

โพสต์ของกระทรวงสาธารณสุข เหมือนต้องการสื่อว่า กระทรวงทำตามหน้าที่ได้รับมอบหมาย แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นเพราะการดำเนินการของจังหวัดต่างๆ และ กทม. ต่างหาก

เจออย่างนี้เข้า กทม. ไม่อาจนิ่งเฉยได้ จึงประกาศชี้แจงทันที สรุปใจความแบบตรงๆ ก็คือ “กทม.ไม่ใช่ผู้ควบคุมและจัดสรรวัคซีน ปัญหาที่ทำให้ต้องมีการเลื่อนฉีดวัคซีน ก็เพราะวัคซีนไม่มาตามแผน”

5. กระทรวงสาธารณสุข กับ กทม. จับมือแถลงข่าว

จากประกาศดังกล่าวของ กทม. ก็เหมือนกับโยนระเบิดลูกใหญ่กลับไปที่กระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นที่มาของการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธาณสุข และ กทม. ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้

โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วน กทม. นั้น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ก็มาร่วมแถลงข่าวด้วยตัวเอง

วัคซีนโควิด-19

6. กระทรวงสาธารณสุข แจงข้อมูลการจัดสรรวัคซีน

นพ.โอภาส ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนถึงปัจจุบัน มีการนำเข้าวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 8.1 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าเซนเนก้า 2.1 ล้านโดส ซิโนแวค 6 ล้านโดส

นับถึงวันที่ 13 มิ.ย. (เมื่อวาน) มีการฉีดวัคซีนทั่วประเทศแล้ว 6,188,124 โดส โดยกรุงเทพฯ ได้มีผู้ได้รับวัคซีนสูงสุด 1,716,394 โดส คิดเป็น 27.7 % ของวัคซีนทั้งหมดที่มีอยู่ โดยแบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1,346993 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 369,401 โดส ส่งผลให้ ชาว กทม.ได้รับการฉีดไปแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม 10.5 %

กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดจองผ่านหมอพร้อม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยบริษัทวัคซีนที่ตกลงทำสัญญากัน ก็จะทยอยส่งวัคซีนมาให้เป็นงวดๆ

และในเดือนมิถุนายน ได้วางแผนกระจายวัคซีน 2 งวด งวดแรกคือ 7 - 20 มิ.ย. โดยจัดส่งให้ กทม. 5 แสนโดส (แอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส / ซิโนแวค 1.5 ล้านโดส  

7. กทม. ยัน วัคซีนมาเมื่อไหร่ ฉีดให้เมื่อนั้น

ซึ่งคำชี้แจงของ นพ.โอภาส ก็เป็นภาพรวมๆ ของการจัดสรร แต่ไม่พูดออกมาให้ชัดๆ ว่า ปัญหาเกิดจากอะไร พล.ต.อ.อัศวิน จึงจัดให้ ดังนี้

“ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุขส่งวัคซีนให้ กทม. 5 แสนโดส ซึ่ง กทม. ก็กระจายวัคซีนที่ได้รับไปจนเกือบหมด เหลือสำรองไว้นิดหน่อยในกรณีฉุกเฉิน และคาดหวังว่า จะได้รับวัคซีนเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่ได้

“กทม. จึงแก้ปัญหาโดยการแจ้งเลื่อนการฉีดวัคซีนให้กับผู้ลงทะเบียน 15 -20 มิ.ย. ไปก่อน แต่ถ้าได้วัคซีน กทม.จะดำเนินการฉีดให้กับกลุ่มผู้ลงทะเบียนในทันที”

สรุปชัดๆ ก็คือ "ก็วัคซีนไม่มา จะให้ฉีดได้อย่างไร"

8. ศบค. ยืนยัน มีวัคซีนเพียงพอ ฉีดได้ครบ 100 ล้านโดส แน่นอน

การแถลงข่าวดังกล่าว ปิดท้ายด้วย พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตัวแทนของ ศบค. ที่ยืนยันว่า ไทยมีวัคซีนเพียงพอ แต่เป็นไปในลักษณะทยอยเข้ามาเป็นล็อตๆ ทำให้ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า แต่เมื่อวัคซีนไม่ได้เข้ามาตามแผน ก็ต้องมีการปรับแผน ก็ต้องเลื่อนออกไป  

ก่อนยืนยันว่า ในเดือนมิถุนายน วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า เข้ามารวม 6 ล้านโดส และไทยจะฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดส ก่อนสิ้นปี ตามเป้าหมายแน่นอน

9. ปัญหาอยู่ที่วัคซีนไม่มาตามนัด

ซึ่งจากการวิเคราะห์โมเดลการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศักยภาพการฉีดวัคซีนของไทย สามารถทำได้ 4 แสนโดส และอาจจะถึง 5 แสนโดส ได้อย่างสบายๆ

แต่สิ่งที่น่าหนักใจก็คือ วัคซีนจะเข้ามาตามกำหนดหรือเปล่า เพราะความล่าช้าเพียงเล็กน้อย ก็ส่งผลกระทบเป็นอย่างมหาศาล ทั้งต้องชีวิตของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ  

related