โควิด-19 ก็ยังมาเรื่อย ๆ ข้าวของ ในท้องตลาดก็พุ่งไม่หยุด สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไปอีก เพราะหากสินค้าราคาสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงตาม แต่เงินในกระเป๋าน้อยกว่าเดิม ล่าสุดเงินเฟ้อพุ่ง 2 เดือนติด ต้นเหตุมาจากราคาพลังงาน อาหารสด สูงขึ้น
วิบากกรรมเงินเฟ้อ ทำคนเดือดร้อนยิ่งขึ้น
ปัญหาโควิด-19 ที่ว่าหนักหน่วงแล้ว แต่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องของคน หนักหน่วงยิ่งกว่า เพราะโควิดทำคนว่างงาน ตกงาน หาเงินยากขึ้น ส่วนราคาสินค้าสูงขึ้นบางรายการ โดยเฉพาะสินค้าที่สำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ตรงนี้กระทบแน่นอนกับค่าครองชีพสูงขึ้น กระทบเงินในกระเป๋าที่มีน้อยอยู่แล้ว ซ้ำเติมคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดไปอีก การที่สินค้าราคาสูงขึ้น เช่น เรามีเงิน 100 บาท แล้วไปซื้อสินค้าได้ปริมาณที่ลดลง หรือได้ซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิม แต่เราต้องจ่ายเงินมากขึ้นกว่าเดิม ตรงนี้เรียกว่า ภาวะเงินเฟ้อ
ซึ่งช่วงนี้บ้านเราก็ต้องจับตาเรื่องเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคุมให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจเพราะหากคุมไม่อยู่นั่นหมายความว่า สิ่งหนึ่งที่ประชาชนตาดำ ๆ ต้องเผชิญ คือ ราคาสินค้าสูงขึ้น ยิ่งช่วงนี้โควิดระบาดหนัก ผู้คนมีเงินในกระเป๋าไม่มาก ถ้าสินค้าราคาแพงขึ้นจะทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนแน่นอน
วันนี้ #SPRiNG จะพามาส่องเรื่องเงินเฟ้อ ที่ทำสินค้าราคาสูงขึ้น โดย ‘นายวิชานัน วินาตจินดา’ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค.2564 เท่ากับ 99.55 เทียบกับเดือนเม.ย.2564 ลดลง 0.93% เทียบกับพ.ค.2563 เพิ่มขึ้น 2.44% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่เพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้น 0.83% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.45 ลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2564 และเพิ่มขึ้น 0.49% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.2563 และเฉลี่ย 5 เดือนเพิ่มขึ้น 0.23%
เงินเฟ้อสูง 2 เดือนต่อเนื่อง
ราคาพลังงาน –อาหารสด ต้นเหตุทำอย่างเด้งตาม
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าราคาสูงขึ้นมาจากราคาพลังงานขยายตัวสูงถึง 24.79% ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกร สัตว์น้ำ อาหารทะเล ผลไม้ ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ของรัฐ และการลดลงของราคาอาหารสดบางชนิด เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ และผักสดเป็นปัจจัยที่ชะลอมิให้เงินเฟ้อสูงเร็วเกินไป สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับผลผลิตและ ความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบัน
ราคาอาหารสดพุ่งสูงขึ้น
220 รายการ เด้งยกแผง ลุ้นปลายปีดีขึ้น
อย่างไรก็ตามสำหรับเดือน พ.ค.2564 ที่ผ่านมา มีสินค้าราคาสูงขึ้น 220 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา น้ำมันพืช เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ข้าวราดแกง เงาะ กล้วยน้ำว้า ลดลง 141 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว พริกสด หอมแดง ผักชี มะเขือ แตงกวา กระเทียม ชะอม เป็นต้น และไม่เปลี่ยนแปลง 69 รายการสำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.2564 คาดว่าจะยังคงเป็นบวกอยู่ แต่ไม่น่าจะสูงเท่ากับเดือนพ.ค. 2564
โดยไตรมาส 2 คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.30% และไตรมาส 3 และ 4 ยังเป็นบวกอยู่ แต่ค่อยๆ ลดลง โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงาน สินค้าอาหารสด ที่มีทั้งบวกและลบ โดยกลุ่มที่คาดว่าจะลดลง เช่น ข้าว ผักสด ผลไม้บางชนิด ที่จะมีราคาผันผวนบ้าง ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่อาหารสด ค่อนข้างนิ่ง ยกเว้นมีมาตรการรัฐ ที่จะเข้ามาช่วยลดค่าครองชีพ จะเป็นตัวเบี่ยงเบน ทั้งนี้ สนค.คาดว่า เงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7–1.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง