กรมการแพทย์ย้ำผู้รับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ ต้องลงทะเบียนก่อน ไม่มีการ walk iเพื่อลดความแออัดและลดการติดเชื้อ เริ่มให้บริการ 7 มิ.ย. - 31 ส.ค. 64
วันที่ 3 มิถุนายน 2564 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม โดยใช้พื้นที่ ณ สถานีกลางบางซื่อ
ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความแออัดจากการเข้าใช้บริการในสถานพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีน และเพื่อให้เป็นไปตามแผนแผนการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น
โดยมีสถาบันโรคผิวหนัง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานให้บริการฉีดวัคซีนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2564
เพื่อบริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ประกอบอาชีพขนส่งสาธารณะ ซึ่งถือเป็นปราการด่านแรกที่มีความเสี่ยงสูง และจะให้บริการแก่ผู้ใช้บริการกลุ่มดังกล่าวจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2564 หลังจากนั้น
ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. - 31 ส.ค. 64 จึงเริ่มให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป โดยแบ่งกลุ่มผู้รับบริการเป็น 2 กลุ่มได้แก่
1. กลุ่มองค์กรที่ประสานมายังสาธารณสุข จำนวน 5,000 คนต่อวัน
2.กลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนนัดหมายเข้ารับบริการฉีดวัคซีนผ่านผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ ค่ายมือดีแทค (Dtac) เอไอเอส (AIS) ทรู (True) และ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด (มหาชน) จำนวน 5,000 คนต่อวัน
ปัจจุบัน ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ยังไม่มีนโยบายให้บริการในรูปแบบ Walk in เพี่อลดความแออัด และไม่แน่นอนในการได้คิวฉีดวัคซีน ประชาชนต้องลงทะเบียน-นัดหมาย-ได้คิว โดยสามารถลงทะเบียนผ่านผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ ดังกล่าว
ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจเร่งด่วนของกรมการแพทย์ เนื่องจากการฉีดวัคซีนถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) แก่ประชาชนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดโอกาสการเสียชีวิต ตลอดจนลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครอบคลุมมากที่สุด
จึงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับวิธีการป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอเมื่ออยู่ในที่ชุมชน หมั่นล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งของ และพยายามเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล