รัฐบาลอินเดีย ตั้งเป้าฉีดวัคซีนโควิด 19 ครอบคลุมประชากรทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ สั่งเร่งผลิตและนำเข้าให้ได้กว่า 2,000 ล้านโดส ทว่าความหวังที่ปลายทางก็ยังคงริบหรี่จากสถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบ
การแพร่ระบาดของโควิด19 ในอินเดียมีความรุนแรงอย่างมากเป็นอันดับที่สองของโลก ด้วยยอดติดเชื้อกว่า 28 ล้านราย และเสียชีวิตอีกมากกว่า 3 แสนราย ทำให้รัฐบาลอินเดียตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในการต่อสู้กับโรคระบาด โดยให้คำมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้จะผลิตอย่างน้อย 2,000 ล้านโดส
อินเดียมีวัคซีนอะไรบ้าง ?
ปัจจุบันมีวัคซีน 2 ชนิดที่ผลิตในประเทศสำหรับโควิด19 ได้แก่ โควิชีลด์ (แอสตราเซนเนก้าที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มอินเดีย) และ โคแวกซีน ที่ผลิตโดย บารัต ไบโอเทค
รัฐบาลอินเดีย กล่าวว่า เมื่อต้นปีนี้รัฐบาลได้สั่งซื้อวัคซีนทั้ง 2 ชนิด จำนวน 356 ล้านโดส ภายในเดือนกรกฎาคม แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้รับวัคซีนทั้งหมด
นอกจากนี้รัฐบาลอินเดีย ยังได้อนุมัติวัคซีนสปุตนิกวีจากรัสเซียไปเมื่อเดือนเมษายน โดยรัสเซียได้จัดส่งวัคซีนมาให้แล้ว 3 ล้านโดส ซึ่งทางอินเดียได้สูตรมาผลิตเองด้วย คาดว่าจะสามารถใช้วัคซีนสปุตนิกวีที่ผลิตเองภายในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม
อินเดียสามารถผลิตวัคซีนได้อีกเท่าไหร่ ?
เป้าหมายของรัฐบาลคือการผลิตวัคซีนโควิด19 จำนวน 2,000 ล้านโดส ภายในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงสิ้นปี 2564 เพื่อฉีดวัคซีนให้ประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด
จากข้อมูลสํามะโนครัวอินเดียปี 2554 มีประชากรที่อายุ 18 ขึ้นไป ประมาณ 900 ถึง 950 ล้านคน ดังนั้นวัคซีนสองพันล้านโดสจะครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ ถ้าการประมาณนี้ถูกต้อง
แต่จากวัคซีนโควิด19 ทั้งหมด 8 ชนิดที่อยู่ระหว่างการผลิตในอินเดียจนถึงขณะนี้ มีเพียง 3 ชนิดเท่านั้นที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ อีก 2 ชนิดอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการทดลองทางคลินิก และอีก 3 ชนิดอยู่ในการทดลองขั้นสุดท้าย
ดร.จันดรากันต์ ลาหริยะ นักไวรัสวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกล่าวว่า "เราไม่สามารถนับวัคซีนที่ยังไม่อนุมัติได้ ควรเน้นที่การขยายขีดความสามารถการผลิตของวัคซีนที่มีอยู่"
สถาบันเซรุ่มอินเดีย มีการผลิตวัคซีนโควิชีลด์ จำนวน 750 ล้านโดส และวัคซีนโคโวแว็กซ์ ที่เป็นวัคซีนโนวาแว็กซ์เวอร์ชันผลิตเองในท้องถิ่นซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติในอินเดียอีก 200 ล้านโดส
บารัต ไบโอเทค ยังผลิตวัคซีนโควิด19 อีกสองประเภทด้วย ประกอบไปด้วยวัคซีนโคแว็กซีน 550 ล้านโดสและวัคซีนที่พ่นทางจมูกที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองระยะแรกอีก 100 ล้านโดส
ในเดือนเมษายนรัฐบาลอินเดียได้จ่ายเงินในการเพิ่มกำลังการผลิตให้กับสถาบันเซรุ่มอินเดีย และบารัต ไบโอเทค โดยเป็นจำนวนเงิน 400 ล้านดอลลาร์ (12,460 ล้านบาท) และ 210 ล้านดอลลาร์ (6,540 ล้านบาท) ตามลำดับ
สถาบันเซรุ่มอินเดีย เพิ่งบอกรัฐบาลว่าพวกเขาจะเพิ่มกำลังผลิตให้เป็น 100 ล้านโดสต่อเดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ในขณะที่บารัต ไบโอเทค จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 80 ล้านโดสต่อเดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคม
แม้ทั้งสองที่จะเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าความต้องการของรัฐบาลที่จะผลิตวัคซีน 2 พันล้านโดสในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม
รัฐบาลได้กล่าวว่า กำลังเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนโควิด19 อาทิ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เพื่อจัดหาวัคซีนเข้าประเทศ แต่ผู้ผลิตเหล่านี้กล่าวว่าพวกเขาสามารถหารือเกี่ยวกับความพร้อมใช้งานภายในเดือนตุลาคมปีนี้เท่านั้น
การขาดแคลนวัตถุดิบ
การผลิตวัคซีนในอินเดียได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการผลิตเพื่อการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ (DPA) เมื่อต้นปีนี้ ทำให้ผู้ผลิตวัคซีนในสหรัฐฯ เข้าถึงวัตถุดิบได้เป็นลำดับแรก
ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ตกลงที่จะจัดหา "วัตถุดิบเฉพาะ" สำหรับการผลิตวัคซีนโควิชิลด์ในอินเดีย เนื่องจากประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 อย่างหนัก
แต่สถาบันเซรุ่ม กล่าวว่า ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนเสบียงที่ต้องการจากสหรัฐฯ
ดร.ซาราห์ ชิฟลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านอุปทานวัคซีนจากมหาวิทยาลัยจอห์น มัวร์ส เมืองลิเวอร์พูล กล่าวว่า "ห่วงโซ่อุปทานด้านเภสัชกรรมมีความซับซ้อนและจำเป็นต้องเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ แม้ความต้องการของทั่วโลกจะสูงมาก ทว่าทางซัพพลายเออร์รายใหม่ก็ไม่สามารถเติบโตได้เร็วเหมือนในอุตสาหกรรมอื่น หรืออย่างน้อยซัพพลายเออร์รายใหม่เหล่านั้นก็จะไม่ได้รับความเชื่อถือ"
ความจำเป็นเร่งด่วนในปัจจุบันของอินเดียในการจัดหาประชากรของตนเอง ทำให้รัฐบาลสั่งให้สถาบันเซรุ่มอินเดียระงับการส่งออกวัคซีนโควิด19 ในเดือนมีนาคม และได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่าจะเริ่มส่งออกวัคซีนได้อย่างเร็วที่สุดก็ต้นปีหน้า