ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้โรคระบาดปี 2564 สงครามระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค ยุทธศาสตร์การจัดการและยุทธวิธีต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha โดยระบุข้อความว่า
โรคระบาดปี 2564... สงครามระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค
ยุทธศาสตร์การจัดการและยุทธวิธีต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ
ความสามารถในการผันแปรของเชื้อ และการวิวัฒน์ข้ามจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ จากสัตว์ป่าจากค้างคาว ไปยังสัตว์ชนิดอื่น จนกระทั่งมีความสามารถที่จะเข้าสู่มนุษย์ และแพร่จากคนสู่คน และจากคนสู่สัตว์ และในที่สุดเชื้อจากสัตว์ย้อนกลับเข้าหาคน
ทั้งหมดนี้เป็นความสำเร็จอย่างงดงาม ของไวรัสโควิด-19 ในการพัฒนาตนของสายพันธุ์ โคโรนาไวรัสพื้นบ้าน ที่อาการไม่รุนแรงจนกลายเป็น ซาร์ส เมอร์ส และใช้เวลาอาจจะตั้งแต่ปี 2003 แยกสายออกมาเป็น โควิด-19 และมิหนำซ้ำเกิดอาการได้ทุกระบบ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นระบบทางเดินหายใจเท่านั้น โดยแสดงอาการทางสมองทางหัวใจ ทางผิวหนัง ช็อค เป็นอาการนำได้ทั้งหมด
และต้องไม่ลืมว่าไวรัสในครอบครัวอื่น ๆ ต่างพร้อมเพรียง ในการพัฒนาตนเอง ควบรวม ผันแปรหน้าตา รวมสายพันธุ์หมู นก คน เข้ากลายเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ G1-6 และ G4 ที่ก้าวหน้าในการระบาดในหมูและเริ่มเข้าสู่คน และไข้หวัดนกที่ระบาดในสัตว์ปีกและติดในคน รอเวลาที่จะมีการแพร่จากคนสู่คนในที่สุด
ไวรัสในครอบครัวมือเท้าปากเช่นกัน มีความสามารถในการสร้างรูปแบบของการเกิดโรค จากปอดบวม ควบรวมกับเส้นประสาทอักเสบ แขนขาอัมพาตอ่อนแรงและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พัฒนาเป็นสมองและก้านสมองอักเสบ น้ำท่วมปอด
ไวรัสในครอบครัวไข้เลือดออก ไม่ได้มีแต่เดงกี ยังมีสายพันธุ์ที่หลากหลาย อีกหลายครอบครัวที่ให้อาการเลือดออกได้เช่นอีโบล่า มาร์เบิร์ค ลาสสา อารีนา และอื่นๆ
ในไวรัสสมองอักเสบ มีครอบครัวสายพันธ์อีกมากมาย และติดแล้วตายหรือพิการ และเมื่อหายกลับเป็นซ้ำได้ ใน 2 ปีต่อมาจากไวรัสที่ยังซ่อนอยู่ในตัว เช่น นิปาห์ไวรัส และไวรัสเดิมที่เกิดเฉพาะระบบทางเดินหายใจ กลับมาเกิดอาการทางสมองแทนได้
ตัวอย่างทั้งหมดนี้ บ่งบอกถึงความแยบยลซับซ้อน ของไวรัสในแต่ละครอบครัวหรือตระกูล ที่แสดงอาการหลากหลายและทำให้ยากต่อการวินิจฉัยแบบดั้งเดิม ซึ่งยึดถือรายการของเชื้อโรคที่ประกาศในโรคติดต่ออันตราย และโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ต้องตรวจคัดกรองก่อน
การตรวจในลักษณะเช่นนี้ ในระยะที่ผ่านมา พบว่าเมื่อตรวจตามรายการเสร็จสิ้นไปแล้ว ยังหาคำตอบไม่ได้ โดยผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ แม้มีอาการหนัก เสียชีวิตและเริ่มมีการแพร่เป็นกระจุก หย่อม กว่าครึ่งยังคงไม่สามารถตอบได้ว่าเกิดจากอะไร
ความซับซ้อนของการติดเชื้อยังอยู่ที่การแสดงอาการไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นระบบใดระบบหนึ่ง จากมีไข้ลามไปทุกระบบอวัยวะในร่างกาย ทำให้ช็อค ตับวาย ไตวาย หรือออกมาในรูปของที่มีอาการไข้และตามด้วยการแสดงอาการจำเพาะเป็นอวัยวะ เช่นสมองหรือปอด เป็นต้น
ยุทธวิธีในการทำสงครามต่อจากนี้ อาจจะไม่ใช่การตั้งต้นดูจากสัตว์ป่าหรือค้างคาว ว่ามีไวรัสอะไรบ้างอย่างที่ทำมาตลอด 20 ปี เพราะที่ผ่านมาพบไวรัสหลาย 100 ตัวที่ไม่มีชื่อในครอบครัวไวรัสโคโรนา และครอบครัวอื่น ทั้งนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าตัวใดที่จะเก่งที่จะเข้ามนุษย์เป็นตัวต่อไป
การจัดการปัญหารีบด่วน เช่นนี้ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดในคน ในทุกพื้นที่และทุกฤดูกาล ที่แสดงอาการเช่น ไข้ ผื่น ท้องเสียอาการทางสมอง อาการทางระบบทางเดินหายใจ ปอดบวม เป็นต้น
และต้องสามารถทำการเชื่อมโยง พื้นที่ ที่ปรากฏอาการเช่นนี้ จากอาการเบาที่เกิดเป็นกระจุกกลุ่มก้อน ในระดับชุมชน หมู่บ้าน จนเริ่มมีอาการปานกลาง ต้องเข้าโรงพยาบาลและอาการหนักวิกฤตที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่
โดยที่สถานพยาบาลระดับย่อยอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาการเล็กน้อย ในขณะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องไม้ เครื่องมือพร้อม ให้ความสำคัญกับการช่วยชีวิต
ดังนั้นการเชื่อมโยงข้อมูลทางระบาดวิทยาจะเป็นสัญญาณอันตราย โดยเมื่อมีคนไข้วิกฤตไม่สามารถระบุสาเหตุหรือระบุสาเหตุได้แต่รูปแบบความรุนแรงไม่ปกติ ต้องส่งสัญญาณกลับลงไปยังพื้นที่เพื่อจับตามองกลุ่มคนที่แม้ดูอาการไม่หนักก็ตาม ทั้งนี้ถ้าปล่อยให้มีการกระจาย โรคจะมีการพัฒนาทำให้เกิดมีอาการหนักเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ในขณะเดียวกันในพื้นที่ต้องจับตามอง กลุ่มอาการที่เกิดผิดฤดูกาลที่ควรจะเป็น และมีการกระจายแพร่ อย่างรวดเร็วผิดปกติ
ในขณะที่ทำการวินิจฉัย ตรวจหาเชื้อต้องมีการสืบค้นว่ามีตัวกลางในการแพร่จากต้นตอสู่คนอะไรบ้าง รวมทั้งยุง เห็บ ไร ริ้น แมลง
การวินิจฉัยในการเพาะเชื้อไวรัสยังคงเป็นสิ่งจำเป็นแต่กระบวนการอาจมีความยุ่งยากและใช้เวลารวมทั้งต้องมีมาตรการป้องกันเชื้อแพร่ออกจากห้องปฏิบัติการ
การวินิจฉัยโดยการใช้การตรวจขยายท่อนพันธุกรรมของเชื้อโรค ด้วยวิธีพีซีอาร์ แม้จะมีความไว แต่เมื่อไวรัสเริ่มมีการผิดเพี้ยนหน้าตาออกไป จะตรวจจับไม่ได้เหมือนอย่างที่ไวรัส โควิด-19 ณ ขณะนี้ เริ่มมีปัญหาในการวินิจฉัย และการที่ไวรัสเข้าไปในหมา แมว ลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมกระทั่งตัวมิ้งค์ ไวรัสจะมีหน้าตาผิดเพี้ยนไปมากกว่าเดิมจากที่เป็นไวรัส โควิด-19 ในคนอย่างเดียว
การตรวจจับเชื้อในห้องปฏิบัติการต้องควบรวมวิธีทั้งหมดที่ใช้โดยไม่หวังพึ่ง พีซีอาร์อย่างเดียว แต่ต้องใช้การตรวจน้ำเหลืองหาแอนติบอดีเพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ โดยที่เชื้อดังกล่าวอาจระบุได้เป็นตัว เช่น โควิด 19 เลย โดยการผันแปรของรหัสพันธุกรรม จะไม่กระทบหรือกระทบไม่มากต่อผลการตรวจ หรืออาจจะไม่สามารถระบุชื่อเป็นตัวได้ แต่บอกได้ว่าเป็นครอบครัวไหน แต่เป็นข้อมูลที่จะขุดค้น ว่าเป็นไวรัสชนิดใด สายพันธุ์ใดและสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ทั้งตัว เพื่อพัฒนายาต้านไวรัสและวัคซีนได้ทันทีทันใด
การตรวจในระดับนี้ยังควบรวมกับการตรวจหาชิ้นส่วนของไวรัสที่ออกมาเป็นเปปไทด์ หรือโปรตีนชิ้นเล็ก ๆเพื่อสามารถใช้เป็นเบาะแสในการค้นหาเฉพาะเจาะจงต่อไป
สงครามครั้งนี้และต่อจากนี้จะเข้มข้นรุนแรงขึ้นตามลำดับและการป้องกันตนในระดับบุคคลในระดับชุมชนยังคงต้องเคร่งครัด ป้องกันเชื้อเข้าจมูก ตาปาก และล้างมือ ร่วมกับป้องกันเชื้อที่จะเข้าทางอาหารน้ำดื่ม กินอาหารสุก น้ำสะอาด
แต่สภาวะที่บั่นทอน สุขภาพทำให้เปราะบางและไม่สามารถต้านทานโรคได้ดี มิหนำซ้ำทำให้โรคลุกลามและยกระดับความรุนแรงจนเสียชีวิตได้ง่ายนั่นคือ มลพิษในอากาศฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 สารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหาร พืช ผัก ผลไม้ เหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายได้ทุกระบบ รวมกระทั่งถึงระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งนี้เชื้อโรคอาจไม่ได้รุนแรงนัก แต่กลับทำให้คนเสียชีวิตได้
สงครามจากนี้ไป ต้องคิดนอกกรอบ ทำใหม่ เชื่อมโยงทุกระบบ จากนิเวศวิทยา จากวิทยาศาสตร์ขั้นลึกทุกแขนง และถ้ายังทำไม่ได้การป้องกันตนเองยังคงเป็นวิธีมาตรฐานที่ทำให้เราทุกคนรอดชีวิตได้