svasdssvasds

โพลชี้พ่อแม่ไม่เห็นด้วยเปิดเรียนช่วงนี้ เหตุฉีดวัคซีนโควิดไม่ครอบคลุม

โพลชี้พ่อแม่ไม่เห็นด้วยเปิดเรียนช่วงนี้ เหตุฉีดวัคซีนโควิดไม่ครอบคลุม

กรมอนามัย เผยผลสำรวจเกี่ยวกับประเด็นการเปิดเรียน พบภาพรวมทั้งประเทศ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และต้องการให้ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมก่อน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจอนามัยโพลประเด็น “เห็นด้วยที่จะเปิดเรียนหรือไม่” พบว่า ภาพรวมประเทศเห็นด้วย ร้อยละ 40.5 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 54.8 แบ่งออกเป็นรายภาค พบว่า

-ภาคกลางไม่รวมกรุงเทพมหานคร เห็นด้วย ร้อยละ 33.1 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 62.1

-ภาคใต้ เห็นด้วย ร้อยละ 30.2 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 65.9

-ภาคเหนือ เห็นด้วย ร้อยละ 45.1 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 49.9

-ภาคอีสาน เห็นด้วย ร้อยละ 66.2  ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 29.6

โดยเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยในการเปิดเรียนมากที่สุดในทุกพื้นที่ยกเว้นภาคอีสานคือ เนื่องจากยังพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม ส่วนภาคอีสานจัดอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดต่ำ และเป็นพื้นที่เดียวที่ผลสำรวจพบว่า เห็นด้วยที่จะให้เปิดเรียนสูงถึงร้อยละ 66.2 ซึ่งเหตุผลหลักคือ เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเหตุผลของผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการเปิดเรียนในภาพรวมของประเทศพบว่า ร้อยละ 15.3 ต้องการให้ครูและนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ขณะที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดหนักในตอนนี้ต้องการให้ครูและนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีน ร้อยละ 17.11 ภาคกลาง ร้อยละ 14.28 ภาคใต้ ร้อยละ 28.43 ภาคเหนือ ร้อยละ 23.75 และภาคอีสาน ร้อยละ 9.28 

ดังนั้น การที่ประชาชนมองว่าควรพิจารณาการฉีดวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนก่อน จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการเปิดเรียนตามปกติ และการพิจารณาเปิดเรียนจึงควรกระจายอำนาจให้จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้พิจารณา  โดยคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานศึกษาที่กรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่ายจัดทำขึ้น

ทั้งนี้ สถานศึกษาทุกแห่งขอให้ปฏิบัติตามมาตรการก่อนเปิดภาคเรียนอย่างเคร่งครัดด้วยการประเมินตนเอง ผ่านระบบ Thai Stop COVID plus ซึ่งจากข้อมูลระหว่างวันที่ 24 เมษายน -  27 พฤษภาคม 2564  พบว่ามีการประเมินตนเองแล้ว จำนวน 38,264 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98.3 ส่วนนักเรียน นักศึกษา ครู บุคลากร และผู้ปกครอง ประเมินความเสี่ยงผ่านระบบ “ไทยเซฟไทย” 

และสำหรับสถานศึกษาให้จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา 44 ข้อ ใน 6 มิติ ได้แก่ 1) ความปลอดภัยจากการลดแพร่เชื้อโรค 2) การเรียนรู้  3) การครอบคลุมเด็กด้อยโอกาส 4) สวัสดิภาพและการคุ้มครอง 5) นโยบาย และ 6) การบริหารและการเงิน

related