svasdssvasds

อย่าเซ็นค้ำประกันใครง่าย ๆ เปิด10วิธี ผู้ค้ำประกันต้องรู้ เพราะอาจหมดตัว

อย่าเซ็นค้ำประกันใครง่าย ๆ เปิด10วิธี ผู้ค้ำประกันต้องรู้ เพราะอาจหมดตัว

ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี คนหาเงินกันสุด ๆ หลายคนใช้วิธีไปกู้ยืม แต่การกู้ยืมนั้นก็มีสินทรัพย์มาค้ำประกัน มีผู้ค้ำประกัน ที่จะมาเซ็นค้ำประกันให้เรา แต่ช่วงนี้จะเซ็นค้ำประกันให้ใครต้องระวังเพราะอาจทำท่านหมดตัวได้ ลองอ่านเทคนิคดี ๆ ตรงนี้ก่อน

ต้องยอมรับว่าช่วงนี้คนหาเงินยากขึ้นมาก ๆ จนทำให้หลายคนหน้ามืดตามัวหาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หนึ่งในทางออก ทางรอด คือ การไปกู้เงิน หรือกู้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้เงิน หรือทรัพย์สินมา แต่การกู้นั้นก็จะต้องมีการทำเป็นลายลักษณ์อักษร มีสัญญา มีผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหนี้เองจึงมีการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ออกมา และให้มีคนที่จะมาเซ็นค้ำประกันด้วย ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ก็อาจทำให้มีเงื่อนไขต่าง ๆ มากขึ้น เพราะฝ่ายเจ้าหนี้เองก็กลัวการผิดชำระหนี้

ก่อนจะไปถึงประเด็นเรื่องการเซ็นค้ำประกัน ของผู้ค้ำประกันทั้งหลาย ที่บางครั้งเหมือนถูกมัดมือชก จากญาติ พ่อแม่ พี่น้อง คนสนิท มิตรสหาย หรือเพื่อนร่วมงาน #SPRING จะพามาเรียนรู้เพิ่มเติมก่อนว่า “ผู้ค้ำประกัน” ตามภาษากฎหมาย หมายถึง บุคคลหนึ่งที่ยอมรับที่จะชำระหนี้แทนอีกบุคคล หากบุคคลนั้นไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ทั้งนี้ทนายเจมส์ LK บอกว่า สัญญาค้ำประกันประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ต่อไปนี้ 1. ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ 2. ต้องลงลายมือชื่อของผู้ค้ำประกัน จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีให้ผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้อย่างไรก็ตามหากไม่ได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน จะไม่สามารถฟ้องร้องบังคับผู้ค้ำประกันให้รับผิดแทนลูกหนี้ได้

เศรษฐกิจไม่ดีคนหาทางกู้เงินเพิ่ม เศรษฐกิจไม่ดีคนหาทางกู้เงินเพิ่ม

หลังจากได้ความรู้เบื้องต้นไปแล้วสำหรับการเซ็นค้ำประกัน หากใครจะเป็นผู้ค้ำประกันในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ต้องระวัง วันนี้มี 10 วิธี ที่ผู้ค้ำประกันต้องรู้เพราะถ้าไม่รู้อาจทำให้ท่านหมดตัวได้ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.อ่านรายละเอียดสัญญาให้ชัดว่าคนที่เราจะเซ็นให้ จะใช้หนี้ได้ไหม

2.สัญญาต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของคู่สัญญา

3.จะรับผิดแทนต่อเมื่อมีการผิดชำระตามที่ตกลงในสัญญา

4.ห้ามเซ็นที่เขียนว่า ให้ผู้ค้ำยอมรับผิดร่วมลูกหนี้

5. หากข้อตกลงในสัญญาเป็นภาระกับผู้ค้ำเกินควร ข้อตกลงจะเป็นโมฆะ

นอกจากนี้สิ่งที่จะต้องระวังจากการเซ็นค้ำประกัน อีกผู้ค้ำประกันต้องรู้ข้อมูลอีกดังนี้

6.หากเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้เท่าไรความรับผิดชอบของผู้ค้ำจะลดลงตาม

7.ผู้ค้ำจะหลุดพ้นความรับผิดชอบเมื่อยื่นขอชำระหนี้ตามกำหนด แต่เจ้าหนี้ปฏิเสธ

8.ผู้ค้ำจะหลุดพ้นความรับผิดชอบ หากเจ้าหนี้ยอมขยายเวลาผ่อนแก่ลูกหนี้

9.ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย สินไหมทดแทน ค่าทวงถาม หากเจ้าหนี้ไม่แจ้งหนังสือบอกให้จ่ายแทนใน 60 วัน นับตั้งแต่ผิดนัดชำระ

10.หลังชำระหนี้แทนลูกหนี้ ผู้ค้ำมีสิทธิฟ้องตามเงินที่ชำระแทนพร้อมดอกเบี้ย

อย่าเซ็นค้ำประกันใครง่าย ๆ เปิด10วิธี ผู้ค้ำประกันต้องรู้ เพราะอาจหมดตัว

“ระเบียบ  บุญมา” แม่ค้าตลาดนัด เล่าให้ฟังว่า ตนคืออีกหนึ่งคนที่ไปเซ็นคำประกันรถให้กับญาติของสามี แต่ลูกหนี้ผิดชำระหนี้ หนีไปเลย สุดท้ายตนต้องมาชดใช้กรรมแทน จนถึงขึ้นไปศาล และถูกฟ้องล้มละลายในที่สุด ในฐานะผู้ค้ำประกันที่ตนเคยผ่านจุดนี้มา จึงฝากเตือนใครที่จะค้ำประกันให้ญาติ หรือบุคคลอื่น อย่าได้เกรงใจ ถ้าเป็นไปได้อย่าทำเพราะไม่คุ้มจริง ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ อย่าหาทำ เตือนด้วยหวังดี !

related