svasdssvasds

ประมูลรถไฟทางคู่ สายเหนือ-สายอีสาน เฉียดฉิวราคากลาง อย่างน่ากังขา

ประมูลรถไฟทางคู่ สายเหนือ-สายอีสาน เฉียดฉิวราคากลาง อย่างน่ากังขา

สามารถ ตั้งข้อสงสัย ทำไมประมูลรถไฟทางคู่ สายเหนือ-สายอีสาน เฉียดฉิวราคากลาง ต่ำกว่าเพียง 0.08 % เทียบกับการประมูลรถไฟทางคู่ สายใต้ ที่ต่ำกว่าราคากลาง 5.66 % ก่อให้เกิดข้อกังขา

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่ากรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ตั้งข้อกังขา การประมูลรถไฟทางคู่ สายเหนือ-สายอีสาน ทำไมราคาที่ประมูลได้ต่ำกว่าราคากลางนิดเดียว

เป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อเร็วๆ นี้ กรณีผู้ชนะการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียงเฉียดฉิวแค่ 0.08% เท่านั้น ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเซ็งแซ่ว่ามีการฮั้วประมูลกันหรือไม่? ทำอย่างไรจึงไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ?

ประมูลรถไฟทางคู่  สายเหนือ-สายอีสาน ต่ำกว่าราคากลาง 0.08 %

การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร แบ่งการประมูลออกเป็น 3 สัญญา โดยมีราคากลางเฉลี่ยสัญญาละ 24,306 ล้านบาท ราคาที่ประมูลได้เฉลี่ยสัญญาละ 24,286 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยเพียงสัญญาละ 20 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% นับว่าราคาที่ประมูลได้ใกล้เคียงกับราคากลางมาก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เช่นเดียวกัน เมื่อวานนี้ (25 พฤษภาคม 2564) มีการประมูลรถไฟทางคู่สายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร แบ่งการประมูลออกเป็น 2 สัญญา โดยมีราคากลางเฉลี่ยสัญญาละ 27,728 ล้านบาท ปรากฏว่าราคาที่ประมูลได้เฉลี่ยสัญญาละ 27,705 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยเพียงสัญญาละ 23 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% นับว่าราคาที่ประมูลได้ใกล้เคียงกับราคากลางมาก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

รถไฟทางคู่

ย้อนดูการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้

เมื่อย้อนดูการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 420 กิโลเมตร ในปี 2560 เดิมการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แบ่งการประมูลออกเป็น 3 สัญญา โดยมีราคากลางเฉลี่ยสัญญาละ 12,007 ล้านบาท

แต่ผมได้ทักท้วงว่าหากราคากลางสูงอย่างนี้ จะปิดกั้นโอกาสไม่ให้ผู้รับเหมาขนาดกลางเข้าร่วมประมูลได้ เนื่องจากทีโออาร์กำหนดประสบการณ์ของผู้รับเหมาที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เป็นสัดส่วนตามมูลค่าโครงการ หากโครงการมีมูลค่าสูงก็จะทำให้ผู้รับเหมาที่จะสามารถเข้าร่วมประมูลได้ต้องเคยผ่านงานที่มีมูลค่าสูง นั่นก็คือผู้รับเหมาขนาดใหญ่ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่ราย อาจทำให้ไม่เกิดการแข่งขันกันอย่างจริงจัง

อีกทั้ง ผมได้เสนอแนะให้ รฟท. เขียนข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างหรือทีโออาร์แบบเปิดกว้าง โดยไม่ล็อกสเปกให้ผู้รับเหมารายใดรายหนึ่ง และที่สำคัญ ควรเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วย

ในที่สุด รฟท. ได้ยกเลิกการประมูลครั้งนั้น และได้เปิดประมูลใหม่ โดยแบ่งสัญญาเพิ่มเป็น 5 สัญญา มีราคากลางเฉลี่ยสัญญาละ 7,204 ล้านบาท ซึ่งต่ำลงจากเดิมที่มีราคากลางเฉลี่ยสัญญาละ 12,007 ล้านบาท ทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วย จึงมีการแข่งขันกันมากกว่าการให้เฉพาะผู้รับเหมาขนาดใหญ่เข้าร่วมประมูลเท่านั้น ผลการประมูลพบว่าราคาที่ประมูลได้เฉลี่ยสัญญาละ 6,796 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยสัญญาละ 408 ล้านบาท คิดเป็น 5.66%

รถไฟทางคู่

เทียบ ประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ กับ สายเหนือ สายอีสาน

เมื่อเปรียบเทียบการประมูลรถไฟทางคู่ระหว่างสายใต้กับสายเหนือและสายอีสาน พบว่าสายใต้ได้ราคาจากการประมูลต่ำกว่าราคากลางมากกว่าสายเหนือและสายอีสาน กล่าวคือสายใต้ได้ราคาจากการประมูลต่ำกว่าราคากลาง 5.66% ในขณะที่สายเหนือและสายอีสานได้ราคาต่ำกว่าราคากลาง 0.08% เท่ากัน

ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่า การแบ่งสัญญาการก่อสร้างออกเป็นสัญญาย่อยหลายสัญญา จะทำให้ราคากลางต่ำลง เมื่อราคากลางต่ำลง ผู้รับเหมาขนาดกลางก็จะสามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ราคาที่ได้จากการประมูลก็จะต่ำกว่าราคากลางมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี

เห็นอย่างนี้แล้ว หาก รฟท. ต้องการประหยัดงบประมาณ ก็น่าจะรู้ว่าควรทำอย่างไรกับการประมูลโครงรถไฟทางคู่ในอนาคต

ที่มา FB : ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

related