svasdssvasds

พรรคไทยสร้างไทย ค้านไทยเข้าร่วม CPTPP ชี้ ส่งผลกระทบภาคการเกษตร สาธารณสุข

พรรคไทยสร้างไทย ค้านไทยเข้าร่วม CPTPP ชี้ ส่งผลกระทบภาคการเกษตร สาธารณสุข

กระแสต่อต้าน ยังร้อนแรง สำหรับการเข้าร่วม CPTPP ล่าสุด พรรคไทยสร้างไทย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน ชี้หากเข้าร่วม CPTPP จะส่งกระทบกับภาคการเกษตร สาธารณสุข และหลายภาคส่วน ฯลฯ

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ มีกระแสข่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วม CPTPP ซึ่งนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงว่า ในการประชุม ครม. ไม่ได้มีการเห็นชอบให้ไทยไปขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP แต่อย่างใด

มีเพียงการอนุมัติให้ขยายระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 50 วัน เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) หารือกับภาคส่วนต่างๆ ให้ครอบคลุม ครบถ้วน และรอบคอบมากที่สุด ในการดำเนินการตามมติ ครม. ที่มอบหมายให้ กนศ. จัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามแผนการดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของ กรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง CPTPP

ฉะนั้นแล้วในเวลานี้ ยังไม่มีการเข้าร่วม CPTPP แต่อย่างใด และการเข้าร่วมดังกล่าว ยังมีการคัดค้านจากหลายภาคส่วน ร่วมถึงพรรคไทยสร้างไทย โดยคุณ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ก่อตั้งพรรค ได้มีแถลงการณ์การณ์ดังต่อไปนี้

สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ

ระบุ การเข้าร่วม CPTPP มีผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทย

การเข้าร่วม CPTPP มีผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยอย่างมาก ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าประเทศไทยมีเกษตรกรทั้งสิ้น 8,094,954 ครัวเรือน หรือ 9,368,245 ราย ซึ่งเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ประชากรกลุ่มนี้จะถูกต่างชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์หลายชนิด โดยเมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากบริษัทรายใหญ่จะผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้น โดยจากเดิม 7 ปี เป็น 15 ถึง 20 ปี

ที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถีได้ทำการศึกษาและพบว่า หากต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกรอบ ราคาของพืชผลทางเกษตรจะยิ่งมีราคาแพงขึ้น 6 ถึง 12 เท่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกสินค้าเกษตร ในปี 2562 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกมากถึง 431,386.89 ล้านบาท ทั้งนี้ หากมีต้นทุนที่สูงขึ้น ประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันระยะยาวได้

ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข

การเข้าร่วม CPTPP ยังส่งผลกระทบต่อด้านการสาธารณสุขของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงยา การพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ หรือการส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุขในด้านอื่น

เช่น การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent linkage) และข้อผูกมัดว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะทำให้เกิดการชะลอการแข่งขันของยาสามัญ เมื่อยาสามัญไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดได้ ยาต้นแบบก็จะผูกขาดตลาดได้นานเกินกว่า 20 ปี ทำให้ประชาชนที่ได้ลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 47.51 ล้านราย ไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคต่างๆ ได้ อีกทั้งรัฐบาลยังจะต้องเสียงบประมาณเพื่อจัดซื้อยาในราคาแพงขึ้นอีกด้วย

การออกนโยบายสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญของการบริหารประเทศ จึงต้องเป็นไปอย่างรอบคอบและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลให้การออกนโยบายสธารณะในอนาคตทำได้อย่างมีข้อจำกัดและมีโอกาสถูกแทรกแซงจากรัฐภาคีหรือบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมาย 50 ฉบับ เพื่อให้สอดรับกับกฎของ CPTPP

ไทยสร้างไทย

ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันกับต่างชาติลดลง

รัฐบาลไทยจะถูกห้ามให้สิทธิพิเศษกับรัฐวิสาหกิจไทยในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต้องมีหลักเกณฑ์เพื่อให้การปฏิบัติต่อบริษัทต่างชาติเป็นไปอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค การให้สิทธินักลงทุนฟ้องรัฐบาลได้ในบางกรณีที่นโยบายรัฐส่งผลลบต่อธุรกิจ การที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เหล่านี้จะทำให้เกิดความอ่อนแอของประเทศในระยะยาว ความสามารถของคนไทยในการแข่งขันกับต่างประเทศจะลดลงหากไม่มีมาตรการและกระบวนการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพรองรับ

ส่งผลกระทบกับประชาชนไทยหลายกลุ่ม

นอกจากนี้ ข้อบกพร่องอันมีนัยยะสำคัญก็คือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ผ่านมามีการจัดเวทีสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นเพียงไม่กี่ครั้ง ซ้ำยังเป็นเวทีที่เชิญเฉพาะตัวแทนภาคธุรกิจ ภาคราชการ และตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนเฉพาะองค์กรที่ทำงานด้านการติดตามและตรวจสอบนโยบายการค้าเสรีเท่านั้น ทั้งๆ ที่การเข้าร่วม CPTPP ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายกลุ่มในประเทศไทย

พรรคไทยสร้างไทยขอเรียกร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรให้คัดค้านการเจรจาเข้าร่วม CPTPP โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาด อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีการดำเนินการใดๆ ก็ตามที่มีผลผูกพันต่อประเทศไทยในระยะยาวในขณะนี้

ที่มา : FB : คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan

related