svasdssvasds

กทม. ยันให้ "ฟาวิพิราเวียร์" แก่ผู้ป่วยสีเขียวเฉพาะราย ตามดุลพินิจของหมอ

กทม. ยันให้ "ฟาวิพิราเวียร์" แก่ผู้ป่วยสีเขียวเฉพาะราย ตามดุลพินิจของหมอ

กทม.สรุปการรักษาให้ยา "ฟาวิพิราเวียร์" แก่ผู้ป่วยสีเขียว แต่ให้เฉพาะบางคนตามดุลพินิจของแพทย์ ในกรณีที่มีปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายมาก และน้ำหนักตัวมาก และต้องมีการติดตามอาการและผลข้างเคียงด้วย

 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีกำหนดประชุมแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบัน  เช่น แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  ผู้แทนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมที่สุด

โดยรองศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยได้สรุปว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครมียาฟาวิพิราเวียร์อยู่จำนวน 6 แสนเม็ด ซึ่งการให้ยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ยิ่งให้ยาเร็วจะยิ่งเป็นผลดีกว่าการให้ยาช้า สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของกรุงเทพมหานครในขณะนี้ จะต้องรีบตรวจเชิงรุกให้เร็ว เพื่อแยกผู้ป่วยออก และรีบให้การรักษา หยุดการแพร่กระจายเชื้อ

 โดยผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และสีแดงจะถูกส่งตัวเข้ารักษาตามโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มสีเขียวคือกลุ่มที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะได้รับการดูแลอยู่ในโรงพยาบาลสนาม และมีระบบการติดตามผู้ป่วยของกรุงเทพมหานครที่วางแผนไว้ และเพื่อไม่ให้มีการที่รุนแรงขึ้น

 เนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีความประสงค์ให้ผู้ป่วยสีเขียวได้รับฟาวิพิราเวียร์ เพื่อลดโอกาสการลุกลามของโรค ในที่ประชุมจึงเห็นตรงกันว่า สามารถให้ยา ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมดจะเลือกให้เฉพาะบางคน ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น กรณีผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสในร่างกายมาก และผู้ป่วยมีน้ำหนักตัว ซึ่งถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ภายใน 4-5 วันจะเป็นการยับยั้งไม่ให้โรคจากสีเขียว เป็นสีเหลืองอย่างไรก็ตามการรักษาจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ป่วย และต้องมีการติดตามอาการและผลข้างเคียงด้วย เพราะผลเสียคืออาจเกิดเชื้อดื้อยาในอนาคตต่อผู้ป่วยได้

 ทางด้านของผู้ช่วยศาสตราจารย์พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ กับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวในครั้งนี้ จะต้องศึกษาเก็บข้อมูลควบคู่ไปด้วย การให้ยาผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวต้องอยู่บนพื้นฐานการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และดูผลกระทบด้านลบ ต่อตับของผู้ป่วยรวมถึงเชื้อดื้อยาในอนาคตด้วย 

 ขณะที่พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงกรณีการตรวจเชิงรุกในเขตคลองเตยว่า จะเร่งตรวจเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อออกมาให้เร็วที่สุด และเมื่อวานนี้ได้ฉีดวัคซีนให้กลุ่ม เสี่ยงไปแล้ว 1,000 คน ส่วนวันนี้ และในวันถัดไปจะฉีดให้ได้วันละ 3,000 คน และได้ชี้แจงกรณีมีบัตรคิวฉีดวัคซีน ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น ไม่มีเรื่องอิทธิพลในพื้นที่ เพราะได้มอบหมายให้ประธานชุมชนเป็นผู้คัดเลือก ประชาชนมาฉีดวัคซีนเบื้องต้นจะเป็นกลุ่มประชาชนสูงอายุและมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคก่อน

related