สปสช.ย้ำอีกครั้ง ห้ามรพ.เอกชนเก็บค่ารักษา ค่าบริการผู้ป่วยโควิด19 รวมถึงยานอกบัญชียา ที่นำมาใช้รักษา หากผู้ป่วยมีสิทธิและเข้าเกณฑ์แต่ถูกเรียกเก็บเงิน แจ้งสายด่วน 1330 ทันที
จากกรณีที่มีญาติผู้ป่วยโควิด-19 โพสต์ขอความช่วยเหลือว่าต้องจ่ายเงินในการรักษาโควิด-19 จำนวน 5 แสนบาท จนเกิดมีการตั้งคำถามว่าตกลงแล้ว การรักษาโรคโควิด- 19 นั้นรัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่ารักษาให้จริงหรือไม่
เรื่องนี้ทีมข่าว SPRiNG สอบถามไปที่ นพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยืนยันอีกครั้งว่า ประชาชนทุกคนที่ติดโควิด-19 จะได้รับการรักษาฟรี ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยทาง สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย ทั้งผู้ที่มีชื่อในระบบ สิทธิบัตรทอง , สิทธิประกันสังคม , สิทธิข้าราชการ
ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตามระบบ UCEP หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยนอกจะจ่ายค่าห้องปฏิบัติการ ค่าเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มียารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 และค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการและที่บ้าน
สำหรับกรณีผู้ป่วยในจะมีการจ่ายชดเชย ค่าแล็ป ค่ายารักษา และที่สำคัญก็คือค่าชุด PPE หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ก็จะมีการจ่ายชดเชยตามจริงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้เข้าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ
ขณะที่ค่าห้อง ถ้าจำเป็นต้องรักษาในห้องความดันลบ (Negative Pressure) ทาง สปสช. ก็จะจ่ายชดเชยให้ 2,500 บาทต่อวัน ส่วนค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel หากโรงพยาบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวยังสถานที่นั้นๆ ก็จะมีการจ่ายชดเชยให้ไม่เกิน1,500 บาท ต่อคนต่อวัน รวมไปถึงค่ารถที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ ด้วย
รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังเน้นย้ำอีกว่า การรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19 ไม่ว่าผู้ป่วยจะอาการโคม่า หรือมีอาการเล็กน้อย ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่ายา เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ทาง สปสช. จะเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบให้ทั้งหมด ในกรณีที่มีปัญหาผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง รวมไปถึงผู้ที่เข้าเกณฑ์ทุกอย่างแล้วยังถูกโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าบริการ ให้แจ้งเรื่องร้องเรียนมาๆได้ที่สายด่วน สปสช. 1330