svasdssvasds

สรุปให้ “วัคซีนโควิด 19 ทางเลือก” ต่างจากวัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อ อย่างไร ?

สรุปให้ “วัคซีนโควิด 19 ทางเลือก” ต่างจากวัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อ อย่างไร ?

สรุปที่มา การดำเนินงาน และการให้บริการ “วัคซีนโควิด 19 ทางเลือก” หรือ “วัคซีนทางเลือก ของโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ข้อกำหนดของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

1. ที่มาของ “วัคซีนโควิด 19 ทางเลือก”

วัคซีนโควิด 19 ทางเลือก” หรือ “วัคซีนทางเลือก” เกิดจากข้อเสนอของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ต่อ คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เป็นการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของโรงพยาบาลเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยให้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด 19 ที่ครอบคลุมและหลากหลายยิ่งขึ้น

2. วัคซีนทางเลือก ต่างกับวัคซีนโควิด 19 ที่รัฐบาลจัดซื้อ อย่างไร ?

วัคซีนทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนจัดซื้อ ต้องไม่ใช่วัคซีนบริษัทเดียวกับที่รัฐบาลจัดซื้อ เพื่อให้ประเทศมีวัคซีนโควิด 19 ที่หลากหลาย

โดยวัคซีนโควิด 19 ที่รัฐบาลจัดซื้อ จะฉีดให้ประชาชนฟรี แต่ถ้าเป็นวัคซีนทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนจัดซื้อมา ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน จะต้องเสียค่าใช้จ่าย และสามารถเลือกได้ว่า จะฉีดวัคซีนของบริษัทใด

แต่ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและให้คำแนะนำของแพทย์ด้วย เพราะวัคซีนบางตัวอาจเหมาะสมกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่เหมาะสมกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง   

บุคลากรทางการแพทย์

3. วัคซีนโควิด 19 ของบริษัทใดบ้าง ที่มีแนวโน้มเป็นวัคซีนทางเลือก ?

วัคซีนโควิด 19 ทางเลือก ของโรงพยาบาลเอกชน คาดว่าได้แก่ โมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม

ส่วนจอนห์นสันแอนด์จอห์นสัน นั้น ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หนึ่งในคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ให้ข้อมูลดังนี้

เดิมทีสภาหอการค้าไทย สนใจจะนำเข้ามา แต่กว่าจะได้ ก็ต้องรอไปถึงไตรมาสที่ 4 (ต.ค. – ธ.ค.) ของปีนี้ ทางสภาหอการค้าไทย จึงไม่ได้ดำเนินการต่อ

และทางโรงพยาบาลเอกชน กำลังรอดูท่าทีรัฐบาลว่า จะสั่งซื้อวัคซีนโควิด 19 ของ จอนห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือไม่ ถ้าไม่สั่งซื้อ ทางโรงพยาบาลเอกชนก็จะดำเนินการสั่งซื้อ

ส่วนวัคซีนที่รัฐสั่งซื้อแล้ว และกำลังดำเนินการ มี 4 บริษัทด้วยกัน ได้แก่

3.1 แอสตร้าเซนเนก้า

3.2 ซิโนแวค

3.3 ไฟเซอร์

3.4 กามาเลยา (สปุตนิก วี)

เท่ากับว่า ภายในปีนี้ ประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิด 19 จำนวน 7 บริษัทด้วยกัน

เฉลิม หาญพาณิชย์

4. การดำเนินการจัดหาวัคซีนทางเลือก ของโรงพยาบาลเอกชน

การดำเนินการมี 2 แนวทาง ได้แก่

4.1 แนวทางที่ 1 ดำเนินการผ่านองค์การเภสัชกรรม

โดยองค์การเภสัชกรรมจะนำเข้า แล้วขายต่อให้โรงพยาบาลเอกชน โดยวัคซีนโควิด 19 ที่ใช้วิธีนี้ได้แก่ โมเดอร์นา ซึ่งคาดว่า จะนำเข้ามาในเมืองไทยได้ช่วงปลายๆ ไตรมาสที่ 3

4.2แนวทางที่ 2 เอกชนดีลกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง

โรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถสั่งซื้อในนามโรงพยาบาลเอกชนได้ จะต้องเปิดบริษัท (บางโรงพยาบาลอาจมีบริษัทด้านนี้อยู่แล้ว) ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องกับ อย. หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

เมื่อดำเนินการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทผู้ผลิต ทางองค์การเภสัชกรรม จะออกเอกสารรับรองให้ ซึ่งการจัดซื้อในรูปแบบนี้ ได้แก่ วัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งคาดว่า จะนำเข้ามาในประเทศไทยได้ก่อนวัคซีนโมเดอร์นา

5. ราคาค่าฉีดวัคซีนทางเลือก ที่จะให้บริการกับประชาชน

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ได้ให้ข้อมูลว่า ราคาค่าฉีดวัคซีน ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดที่ชัดเจน แต่มีหลักการคร่าวๆ ดังนี้

“ในคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามข้อตกลง วัคซีนทางเลือก ขอให้เป็นราคาควบคุมในอัตราเดียวกัน

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติราคาวัคซีน 1 พันบาท บวกค่าบริการในการฉีด บวกค่าประกัน หากยี่ห้อเดียวกัน ราคาก็จะเท่ากัน”

ที่มา จากการสัมภาษณ์ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และเป็นหนึ่งในคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

related