โควิด-19 ยังพ่นพิษธุรกิจร้านอาหาร-โต้รุ่ง ต่อเนื่อง โดยพื้นที่สีแดงยอดขายตกระนาว หลังมีคำสั่งให้นั่งได้ถึง 3 ทุ่ม เคราะซ้ำแถมคนกระเป๋าแห้งอีกหลังสงกรานต์
สถานการณ์โควิด -19 บ้านเรายังไม่ดีขึ้น และยังคงต้องลุ้นแบบวันต่อวันกันต่อไป ล่าสุดรัฐก็ได้ใช้ยาแรงในการแบ่งโซนสี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้บางธุรกิจมีเวลาจำกัดในการปิด -เปิด โดยเฉพาะร้านอาหาร-โต้รุ่ง พื้นที่สีแดงที่ต้องให้ลูกค้านั่งรับประทานได้ถึง 3 ทุ่ม หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ กรุงเทพ เมืองหลวง เมืองที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลำดับต้น ๆ ของประเทศ มีประชากรอยู่จำนวนมาก จึงทำให้ธุรกิจร้านอาหาร ร้านโต้รุ่ง เดิมทีเติบโตมาก ๆ แต่พอมาเจอโควิด -19 เล่นงานก็ต้องปรับตัวกันไป
วันนี้ SPRING จะพามาสำรวจธุรกิจร้านอาหาร ร้านโต้รุ่ง ในเมืองหลวงอีกครั้ง หลังจากโควิด -19 ระลอกใหม่ ระบาดอย่างหนักอีกแล้ว และจากการที่มีประกาศให้นั่งรับประทานได้ถึง 3 ทุ่ม พ่อค้าแม่ค้าจะได้รับผลกระทบยังไง มีการแก้ไข ปรับตัวอย่างไรบ้างให้รอดจากวิกฤต ทีมข่าวได้พูดคุยกับ “ ณัฐชัย สมใจหมาย” เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ย่านประชาชื่น ให้ข้อมูลว่า เดิมทีธุรกิจร้านอาหาร กำลังกลับมาฟื้นตัว จากโครงการต่าง ๆ ของรัฐช่วยด้วย และคนก็กำลังเริ่มมีกำลังซื้อในการจับจ่าย แต่พอมาโควิด -19 ระลอกใหม่ที่เริ่มระบาดช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา จนมาถึงวันนี้ร้านอาหารเปิดให้นั่งถึงแค่ 3 ทุ่ม ทำให้ยอดขายลดลงกว่า 50 % แถมคนยังไม่กล้าออกบ้านมาด้วยเพราะกลัวติดโรค
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาและลูกน้อง หันมารุกหนักเอาดีทางเดลิเวอรี่แทนเพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารของเขาอยู่รอดต่อไป ซึ่งเดิมก็มีส่งเดลิเวอรี่อยู่แล้ว แต่ได้ทำร่วมกับแบรนด์เดลิเวอรี่เพียงแค่แบรนด์เดียว พอมาถึงตอนนี้ยอดลดลงมากจึงหันมาทำร่วมกับแบรนด์อื่น ๆมากถึง 3 แบรนด์ เพื่อเพิ่มช่องทาง โอกาส ในการขายออนไลน์มากขึ้น นอกจากนั้นยังเตรียมคิดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการคืนกำไรให้กับสังคม ช่วยเหลือกันในยามวิกฤติ
คนซื้ออาหารยุคโควิดระบาดรีบซื้อรีบกลับ
ทางด้าน “สาคร คำปะละ” เจ้าของร้านค้าในตลาดโต้รุ่ง ย่านบางซื่อ เล่าให้ฟังว่า หลายคนอาจมองว่า ธุรกิจร้านอาหาร หรือร้านอาหารต่าง ๆ จะเติบโตมากในช่วงโควิด -19 ระบาด ไม่ว่าจะเป็นการสั่งเดลิเวอรี่ หรืออื่น ๆก็ตาม แต่พอมาเจอโรคระบาดบ่อย ๆ หลาย ๆ รอบก็ทำให้คนไม่กล้าออกมาจับจ่ายเช่นกัน นอกจากวิธีเดลิเวอรี่แล้วที่จะช่วยดันยอดขายให้กระเตื้อง เธอยังได้โพสต์ในเฟซบุ๊กรับพรีออเดอร์ แบบวันต่อวันอีกด้วย และได้ใช้ลูกชายขับมอเตอร์ไซค์วนส่งในระยะที่สามารถไปได้ ประกอบกับทำเมนูให้มีความหลากหลายให้ดึงดูดลูกค้ายิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวการปรับตัวของ ธุรกิจร้านอาหารในยุคโควิด -19 ระบาด