กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ฟัน "รพ.บำรุงราษฎร์" โฆษณาลงทะเบียน "วัคซีนโควิด-19" ไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะระงับโฆษณา
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์โรงพยาบาล ให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับ บำรุงราษฎร์ ตามที่ภาครัฐจัดสรรให้ ว่า เป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื้อหาอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังโรงพยาบาล เพื่อระงับการโฆษณาดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ โดยปกติการโฆษณาของสถานพยาบาลต้องได้รับอนุญาต แต่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ไม่ได้ขออนุญาต จึงไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และในส่วนของเนื้อหาอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เพราะขณะนี้ “วัคซีนโควิด-19” ยังเป็นวัคซีนที่ภาครัฐจัดสรร และแจ้งประชาชนมารับบริการ ยังไม่ถึงขั้นให้ประชาชนจองวัคซีน แม้ว่าเนื้อหาที่โรงพยาบาลดำเนินการจะเป็นเรื่องที่แจ้งว่า เป็นวัคซีนที่รัฐจัดสรรให้ แต่ประชาชนอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนและคาดหวังเกินจริง ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้
“ตอนนี้เราได้แจ้งทางบำรุงราษฎร์ระงับการโฆษณานี้แล้ว และจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล คือ โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และเนื้อหาไม่เป็นจริง ซึ่งทางโรงพยาบาลก็คงจะถอดจากการโฆษณา” นพ.ธเรศ กล่าว
ส่วนที่มีโรงพยาบาลเอกชนฉีด “วัคซีนโควิด-19” ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นั้น อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า เป็นการฉีดตามที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย เช่น ฉีดเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เพราะเป็นเป้าหมายให้ฉีดบุคลากรทางการแพทย์ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ยังไม่ได้ฉีดประชาชนทั่วไป โรงพยาบาลเอกชนจะนำวัคซีนไปฉีดได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
ก่อนหน้านี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เคยมีคำสั่งระงับการโฆษณาเรื่องรับจอง “วัคซีนโควิด-19” ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาครมาแล้ว โดยบทลงโทษสถานพยาบาลโดยไม่ขออนุมัตินั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
• อุ้ม ลักขณา ประกาศติดโควิด-19 ทั้งครอบครัว
• โคราช ป่วยโควิดเพิ่ม 28 ราย พบชาวญี่ปุ่น 5 ราย เที่ยวร้านคาราโอเกะ
• ตาแดงจากภูมิแพ้ กับ ตาแดงจากโควิด 19 แตกต่างกันอย่างไร ?