เบรกไปก่อน สำหรับโครงการ‘เราผูกพัน’ ที่ข้าราชการจะได้รับการช่วยเหลือจากพิษโควิด -19 แต่ก็เชื่อว่ารัฐจะนำเงินไปช่วยผู้ที่เดือดร้อนอื่น ๆ ก่อน และเชื่อว่าจะกลับมาช่วยข้าราชการในภายหลัง แต่รู้หรือไม่ว่าข้าราชการไทยเป็นหนี้มากมายมหาศาล
ข้าราชการที่ตั้งหน้าตั้งตารอโครงการเราผูกพัน ก็ต้องได้รับข่าวที่ไม่ค่อยจะดีนัก หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้บอกว่า ยังก่อน เราต้องดูก่อน เห็นใจจริง ๆ พร้อมกับกล่าวคำว่า"เห็นใจข้าราชการ แต่อย่างว่านะ เขามีเงินเดือน ก็ลำบากเหมือนกัน เดี๋ยวคอยดูว่าจะทำอย่างไรได้ สิ่งที่เราต้องการคือการหมุนเวียนเศรษฐกิจ สิ่งที่เรามอง อย่างไรก็ตามเราต้องดูแลประชาชนให้มากที่สุด ขอร้องต้องทำความเข้าใจกับข้าราชการ ใช่ว่ารัฐบาลไม่ห่วงใย แต่นี่เป็นเรื่องการเยียวยา"
สำหรับโครงการเราผูกพัน เยียวยาข้าราชการ กำหนดแนวทางในเบื้องต้น เยียวยาข้าราชการ 4,000 บาท กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อยมีเงินเดือนใกล้เคียงกับ ค่าตอบแทนแรงขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท ทั้งกลุ่มข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ลูกจ้างหน่วยงานราชการ ทั้งชั่วคราว และประจำ พนักงานราชการ ตามสัญญาจ้าง รายได้ต่ำ ราว 200,000 คน เมื่อท่านผู้นำได้พูดเช่นนี้แล้ว ได้ยินกันเต็มสองหูแล้วเช่นนี้แล้วท่านทั้งหลายก็ต้องรอต่อไป
ไหน ๆ ก็พูดถึงเรื่องข้าราชการแล้ว วันนี้ SPRiNG จะพาไปส่องดูหลากหลายมิติทางด้านเศรษฐกิจของชีวิตข้าราชการไทยว่าเป็นอย่างไร โดยเริ่มจากกรุงเทพธุรกิจ เผยข้อมูลเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาว่า ทีมงานด้านเศรษฐกิจของรัฐได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะหนี้สินข้าราชการสั่งสมมานาน และมีจำนวนมาก แทบจะไม่มีทางชำระคืนได้หมด อีกทั้งขอให้ช่วยดูลูกหนี้ที่มีภาระหนี้สินจากเครดิตการ์ดเต็มเพดานขอให้ดูว่าจะช่วยลดดอกเบี้ยลงได้หรือไม่
ขณะเดียวกันธนาคารออมสิน ได้ให้ข้อมูลว่ากรุงเทพธุรกิจว่า ธนาคารมีลูกหนี้กลุ่มข้าราชการจำนวน 1.18 ล้านราย เป็นมูลหนี้ 6.29 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับสถาบันการเงินและกลุ่มสหกรณ์ต่าง ๆ คาดว่ามูลหนี้กลุ่มข้าราชการจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น ภาระการผ่อนชำระต่องวดจึงอยู่ในระดับสูงทั้งนี้ลูกหนี้ข้าราชการแบ่งเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ 51%หรือ 6 แสนราย มูลหนี้ 1.85 แสนล้านบาท , บุคลากรทางการศึกษา 41% จำนวน 4.89 แสนราย มูลหนี้ 3.95 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้ตำรวจและทหาร คุณภาพหนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีหนี้เสีย 2.65%
สอดคล้องกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ข้าราชการที่กู้เงินมาใช้นั้นมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 56.4 ของข้าราชการมีหนี้สินจากการกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ร้อยละ 15.2 นำมาซื้อหรือซ่อมแซมยานพาหนะ ร้อยละ 13.3 เพื่อใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค ร้อยละ5.8 นำมาลงทุนในธุรกิจของครอบครัว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเพียงร้อยละ 3.9 เท่านั้นกู้มาเพื่อการศึกษา อย่างไรก็ตามจากข้อมูลทั้งหมดนี้ก็สามารถเป็นตัวชี้วัดได้ว่าข้าราชการก็คืออีกหนึ่งกลุ่มที่ควรได้รับการช่วยเหลือจากพิษโควิด-19 แต่รัฐคงช่วยเหลือข้าราชการในโครงการเราผูกพันในลำดับถัดไปเพราะมีเรื่องเร่งด่วนมากมายที่ต้องช่วยเหลือก่อน !