ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบลดระยะการกักตัว COVID-19 จาก 14 วัน เหลือ 7 วัน ยกเว้นเดินทางมาจาก "แอฟริกาใต้" ยังคงเดิม 14 วัน เนื่องจากกังวลปัญหาเรื่องการกลายพันธุ์
วันที่ 8 มี.ค. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในประเด็นเรื่องการลดวันกัดตัว และการออกใบรับรองหลักการฉีดวัคซีน ระบุว่า สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนครบ 2 เข็มและต้องการที่จะเดินทางไปยังต่างประเทศ คนกลุ่มนี้จะได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีน กลุ่มแรก คือผู้ที่ฉีดวัคซีนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และได้ฉีดอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคมหรือห่างกัน 3 สัปดาห์ เท่ากับได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว จะมีค่าใช้จ่าย 100 บาท โดย 50 บาทสำหรับการออกเอกสาร บวกค่าธรรมเนียมและอีก 50 บาทสำหรับการโลหดทางแอพพลิเคชั่น และสามารถขอรับเอกสารได้ที่โรงพยาบาลซึ่งผู้รับวัคซีนไปใช้บริการ
เอกสารการได้รับวัคซีนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศแถบแอฟริกาแล้วก็จะขอใบรับรองการฉีดวัคซีนเช่นนี้เหมือนกัน ปัจจุบันนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 250 ล้านเข็มทั่วโลกเริ่มมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นในคนจำนวนมากและหลายประเทศเริ่มพูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลดวันกักตัว ประเทศไทยเอง ได้พิจารณาเรื่องนี้ และคิดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนเมษายน
หลักการของไทยคือ ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย มีเอกสารรับรองว่าได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน ได้รับวัคซีน ไม่น้อยกว่า 14 วันและไม่เกิน 3 เดือนก่อนการเดินทาง มีเอกสารรับรองการปลอดโควิด19 จะลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน
คนถือสัญชาติไทย หากไม่มีเอกสารรับรองการปลอดโรค แต่มีเอกสารการรับวัคซีนครบอย่างน้อย 14 วัน แต่ไม่เกิน 30 วันก่อนเดินทาง ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน
สำหรับผู้ที่ไม่ใช่คนไทย ไม่มีใบรับรองการรับวัคซีน แต่มีใบรับรองการปลอดโควิด-19 ต้องกักตัว 10 วัน
"ยกเว้น ผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกายังต้องกักตัวให้ครบ 14 วันตามมาตราการเดิม"
ส่วนในอนาคตจะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ต้องดูผลของการฉีดวัคซีนจากทั่วโลก เพื่อมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์
ในที่ประชุมยังได้หารือกันในสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน หากมีความรุนแรงเกิดขึ้น แล้วมีการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทางกระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการรองรับไว้แล้ว อาจจะต้องเพิ่มพื่นที่กักตัวไปจนถึงการตั้งโรงพยายาลสนาม และได้หารือกับฝ่ายความมั่นคงให้ออกมาตรการรองรับเรื่องเหล่านี้ด้วย
ในส่วนผลกระทบจากการฉีดวัคซีนมีรายงานเข้ามาเป็นระยะ พบเป็นส่วนน้อย ก็ต้องดูแลไปพร้อมกับประชาชนกลุ่มใหญ่ ขอย้ำว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนอยู่แล้ว เตรียมไว้หมดทั้งสถานบริการแพทย์พยาบาลยารักษาโรค อย่างไรเสีย การฉีดวัคซีนยังเป็นเรื่องจำเป็น ในอนาคตจะมีวัคซีนของบริษัท astrazeneca เข้ามา
ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะใช้เวลาประมาณ 2 วันในการพิจารณาในเรื่องของความปลอดภัย นโยบายในเรื่องการให้บริการนั้น คือ การให้บริการวัคซีนต้องให้ในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างชุกชุม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมโรคสูงที่สุด สำหรับนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้ฉีดเข็มแรกของวัคซีน astrazeneca หรือไม่ ต้องให้เป็นการพิจารณาของฝ่ายที่รับผิดชอบ ทั้งนี้เรื่องของการให้บริการวัคซีนตั้งอยู่บนหลักของวิชาการ เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ และประชาชนในประเทศ
" จำนวนที่สั่งจองไว้ได้ครอบคลุมครบถ้วนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้เบื้องต้น แต่ก็พร้อมพิจารณานำเข้ามาเพิ่ม การจัดหาวัคซีนมีหลายปัจจัย ที่ต้องพิจารณา ไม่ใช่ซื้อถูกแต่ส่งไม่ทันตามความต้องการ ต้องหาจุดลงตัวในเรื่องต่างๆให้เกิดขึ้นที่สุด ต้องคำนึง ถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลการจัดส่ง การวางแผนการให้บริการ ส่วนการที่ภาคเอกชน จะนำวัคซีนเข้ามา ก็ขอให้ทำตามกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด"