svasdssvasds

สามารถ ชี้ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกณฑ์ประเมินเดิม ดีกว่าเกณฑ์ใหม่

สามารถ ชี้ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกณฑ์ประเมินเดิม ดีกว่าเกณฑ์ใหม่

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เปรียบเทียบเกณฑ์เดิม กับเกณฑ์ใหม่ ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เปรียบเทียบเกณฑ์เดิม กับเกณฑ์ใหม่ ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

คาดว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะใช้เกณฑ์ใหม่ในการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่ แทนการประมูลเดิมที่ถูก รฟม.ยกเลิกไป แต่ผมมั่นใจว่าเกณฑ์ใหม่สู้เกณฑ์เดิมไม่ได้ เพราะอะไร ?

รฟม. อ้างว่าเหตุที่ต้องใช้เกณฑ์ใหม่เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เนื่องจากจะต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ยังคงเปิดให้บริการ จะต้องตัดเสาเข็มสะพานลอยโดยไม่ปิดการจราจร

และที่สำคัญ จะต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ถือว่าเป็นการก่อสร้างที่ซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง จะใช้เกณฑ์เดิมไม่ได้

สามารถ ชี้ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกณฑ์ประเมินเดิม ดีกว่าเกณฑ์ใหม่

เกณฑ์เดิมไม่ดีจริงหรือ ? ตามเกณฑ์เดิมเอกชนจะยื่นข้อเสนอ 4 ซอง ดังนี้

ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ : คณะกรรมการคัดเลือกจะประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติว่ามีครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ จะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องเปิดซองที่ 2 แต่หากผ่านก็ต้องเปิดซองที่ 2 เพื่อพิจารณาต่อไป

ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค : มีคะแนนเต็ม 100% แบ่งเป็น 5 หมวด ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 80% และจะต้องได้คะแนนรวมของทุกหมวดไม่น้อยกว่า 85% หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องเปิดซองที่ 3 แต่หากผ่านก็ต้องเปิดซองที่ 3 เพื่อพิจารณาต่อไป

ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านผลตอบแทน : ผู้ยื่นข้อเสนอ ที่เสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม.มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล แล้วจึงเปิดซองที่ 4 ของผู้ชนะการประมูลต่อไป

ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ รฟม.

ฟันธง เกณฑ์เดิม ดีกว่า

แต่หลังจากปิดการขายเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) แล้ว รฟม.ประกาศเปลี่ยนการใช้เกณฑ์ประเมินเป็นเกณฑ์ใหม่ โดยอ้างว่าเกณฑ์เดิมคัดเลือกผู้ชนะโดยการดูเฉพาะคะแนนผลตอบแทนเท่านั้น หากเอกชนรายใดรายหนึ่งเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. ต่ำกว่าอีกรายเพียงเล็กน้อย แต่เอกชนรายนั้นได้คะแนนด้านเทคนิคสูงกว่า จะทำให้ รฟม.เสียโอกาสในการได้เอกชนที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีเส้นทางใต้ดินผ่านศูนย์การค้าขนาดใหญ่ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

แต่ผมไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกณฑ์เดิมได้ให้ความสำคัญด้านเทคนิคไว้สูงสุดแล้ว เพราะให้คะแนนไว้เต็ม 100% พร้อมทั้งกำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ 85%

นั่นหมายความว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 85% จึงจะสอบผ่าน และจะต้องได้คะแนนในหมวดย่อยอีก 5 หมวด หมวดละไม่น้อยกว่า 80% ผู้ยื่นข้อเสนอที่สอบผ่านถือว่า มีความสามารถด้านเทคนิคสูงมาก สามารถทำการก่อสร้างงานประเภทไหนก็ได้

 การกำหนดคะแนนรวมด้านเทคนิคไว้ 85% ถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจากหัวลำโพง-ท่าพระ มีเส้นทางผ่านเยาวราช ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญ และต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ รฟม.กำหนดคะแนนด้านเทคนิคไว้เพียง 70% เท่านั้น แม้กำหนดคะแนนสอบผ่านด้านเทคนิคไว้เพียง 70% แต่ผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลก็สามารถทำการก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงฟันธงว่าเกณฑ์เดิมดีมากอยู่แล้ว รฟม.ไม่ควรยกเลิกแล้วเปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ใหม่

สามารถ ชี้ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกณฑ์ประเมินเดิม ดีกว่าเกณฑ์ใหม่

เกณฑ์ใหม่ดีจริงหรือ ?

เกณฑ์ใหม่พิจารณาซองที่ 1(คุณสมบัติ) เช่นเดียวกับเกณฑ์เดิม แต่พิจารณาซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) และซองที่ 3 (ด้านผลตอบแทน) พร้อมๆ กัน โดยให้คะแนนรวมซองที่ 2 และซองที่ 3 เท่ากับ 100% แบ่งเป็นคะแนนซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) 30% และคะแนนซองที่ 3 (ด้านผลตอบแทน) 70%

สำหรับคะแนนด้านเทคนิคนั้น รฟม.ไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ นั่นหมายความว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะได้คะแนนด้านเทคนิคต่ำเพียงใดก็ถือว่าสอบผ่าน

อีกทั้งการให้คะแนนด้านเทคนิคไว้เพียง 30% เป็นการลดความสำคัญด้านเทคนิคลงมา ซึ่งขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของ รฟม.ที่ต้องการใช้เกณฑ์ใหม่ โดยอ้างว่าจะทำให้ได้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง เหมาะสมกับงานก่อสร้างที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

เกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.ต้องใช้เป็นเกณฑ์ที่ รฟม.เคยใช้มาแล้วในอดีตนานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ รฟม.คงเห็นว่าไม่เหมาะสมกับงานก่อสร้างที่ซับซ้อน จึงทำให้ รฟม.เลิกใช้เกณฑ์นี้หันมาใช้เกณฑ์เดิม (แยกซองเทคนิคออกจากซองผลตอบแทน) หรือเกณฑ์ที่ประกาศใช้ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งแรก

สรุป

เกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.ต้องการใช้ ไม่เหมาะสมกับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟาสายสีส้มที่มีเส้นทางส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน วิ่งผ่านใต้สะพานลอย (ต้องตัดเสาเข็มที่รองรับสะพานลอย) ใต้ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยา

เกณฑ์เดิมจะทำให้ รฟม.คัดเลือกได้เอกชนที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงเหมาะสมกับงานก่อสร้างโครงการนี้ และจะทำให้ รฟม.ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ รฟม.จึงควรพิจารณาใช้เกณฑ์เดิมในการเปิดประมูลครั้งใหม่

ที่มา FB : ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

related