สปริง สัมภาษณ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากกรณีถือป้ายประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงอุดมศึกษาฯ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ อ้างคุมโควิด ปิดโรงเรียน
การระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรก และระลอกใหม่ “สถานศึกษา” เป็นสถานที่แรกๆ ที่ถูกปิด และอนุญาตให้เปิดในลำดับท้ายๆ
หรือแม้แต่ในเวลานี้ที่หลายธุรกิจได้รับการผ่อนคลาย แต่โรงเรียนก็ยังเปิดไม่ได้ อีกทั้งการเรียนออนไลน์ในประเทศไทยเวลานี้ ก็ยังมีปัญหา เพราะมีเด็กอีกจำนวนมาก ไม่อาจเข้าถึงระบบการเรียนการสอนได้
จากความคับข้องใจ และต้องการให้สังคมได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง “รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ทำการประท้วงโดยการถือป้าย หน้ากระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงอุดมศึกษาฯ ตามลำดับ เพื่อแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ ที่ส่งผลกระทบกับอนาคตของชาติ
โดยเขาได้เปิดใจกับสปริงว่า เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเดิมพันคืออนาคตของประเทศ
สปริง : จากการที่รัฐประกาศให้สถานศึกษา ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ปิดสถานที่ โดยอ้างว่า เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผมกระทบในมิติอื่นๆ อย่างไรบ้าง ?
รศ.ดร.เจษฎา : ผมมองว่าเป็นปัญหาภาพใหญ่ของการใช้นโยบายของประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องโควิด-19คือในการระบาดครั้งแรก เราจะเห็นความตกใจของคนไทย ความหวาดกลัว และก็ปิดทุกอย่างเลย
เรามีกระทั่งล็อกดาวน์เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาด้วย แล้วเราผ่านมาจะ 1 ปีแล้วครับ จริงๆ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับโควิดค่อนข้างมาก
แล้วสังเกตว่าครั้งนี้พอการระบาดเกิดขึ้น แม้จะระบาดกว้างขวางรุนแรง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเยอะกว่าครั้งที่แล้วเยอะมาก แต่ว่าการล็อกดาวน์เชิงเศรษฐกิจ กลับลดความรุนแรง ความเข้มงวดลง
เพราะเรียนรู้มาแล้วแหละว่า คุณปิดประเทศ ปิดการเดินทางต่างๆ มันเสียหาย แต่ปัญหาคือว่า ไม่มีใครมองว่า การศึกษาเองก็เสียหาย แนวนโยบายที่ทำ พอเริ่มมีการระบาดปุ๊บ สั่งปิดโรงเรียน สถานศึกษา มหาวิทยาลัยหมดเลย อย่างรวดเร็วตั้งแต่แรก แล้วการเปิด ก็เปิดล่าช้า
ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าหลายๆ ที่เนี่ย การทำธุรกิจการค้า ห้างร้าน เปิดได้ แต่พอเป็นการศึกษา กลับยังไม่เปิด
สิ่งที่ผมไปประท้วง เพื่อให้เห็นมาตรฐานตรงนี้ว่า เราหลงทางหรือเปล่า เราเรียงอันดับความสำคัญผิดไหม เพราะจริงๆ วันนั้นเอาแถลงการณ์ขององค์การยูนิเซฟ ด้านเด็กเยาวชน ของสหประชาชาติ มาอ่านให้ฟัง ว่าจริงๆ แล้ว ยูนิเซฟพูดเลยว่า การศึกษาเนี่ยสำคัญมาก แล้วควรปิดเป็นที่สุดท้าย
คือเมื่อมาตการต่างๆ ไม่สามารถที่จะรับมือกับการระบาดที่รุนแรงได้ ค่อยปิดสถานศึกษา เมื่อไหร่ก็ตาม เมื่อผ่อนคลายมาตการ ค่อยกลับมาเปิดได้ สถานศึกษาต่างๆ ต้องเปิดก่อน ซึ่งจะเห็นว่า มันตรงกันข้ามกับประเทศไทยเลย ผมจึงต้องไปยืนประท้วงดู เผื่อมีใครสนใจเรื่องนี้บ้าง
รศ.ดร.เจษฎา : ว่ามันมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ก็คือว่า เราเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด ยังไม่ชัดเจน แล้วคนก็มีความหวาดกลัวสูง แล้วทาง ศบค. ไม่ให้ความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรคนี้
จริงๆ แล้วเนี่ย อันตรายที่เกิดขึ้นกับโรคโควิด มันจะเกิดกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นหลัก ในสังคมทั่วโลก เขาพยายามจะปกป้องคนกลุ่มนั้น แต่ไม่ใช่ว่า คนทุกคน เด็ก เยาวชน หรือว่าผู้ใหญ่ จะห้ามทำอะไรเลย ทุกคนยังใช้ชีวิตได้ จะเห็นว่าโรงเรียนต่างประเทศ เขาก็ไมได้ปิด ถ้าไม่ได้ถึงขั้นรุนแรง ถึงขั้นรับมือไม่ไหวจริงๆ ปัญหาก็คือ ความเข้าใจของคนยังมีปัญหาอยู่
จริงๆ เด็กมีโอกาสติดเชื้อ รับเชื้อยากกว่าผู้ใหญ่ ติดแล้วก็มีอาการป่วยน้อยกว่าผู้ใหญ่ โอกาสที่จะเป็นไข้ถึงตายเนี่ย เกิดขึ้นน้อยมาก
ส่วนที่ 2 คือการให้ความสำคัญอย่างที่ว่าเนี่ยแหละครับ พอบอกว่าต้องปิดก่อน แสดงว่าการศึกษาไม่สำคัญใช่ไหม ปิดไปเลยก็ได้ บางคนบอกว่าไปเรียนออนไลน์เอาแล้วกัน แต่วันนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ คงจะเห็นภาพการเรียนออนไลน์ มันไม่สัมฤทธิ์ผล มันลำบากมาก ผลการศึกษามีปัญหา คุณครูก็สอนไม่ค่อยได้ แล้วบรรดาบ้านต่างๆ ที่เขาเป็นตาสีตาสา ไม่มีเงินไม่มีอุปกรณ์ เขาไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาทางไกลแบบนี้ได้
ซึ่งยูนิเซฟ เขาก็เตือนเรื่องนี้เหมือนกันว่า การศึกษาทางไกลไม่ใช่ทางออก ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ทั่วประเทศจริงๆ ผู้ปกครองหลายคนก็จะกลัวว่าลูกติดเชื้อ เพราะ ศบค. ไม่เล่าความจริงว่า โอกาสติดเชื้อในเด็กมันต่ำ
พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากที่ลำบาก ดูแลไม่ไหวแล้ว ต้องกลับไปทำงานเพราะว่า ห้างร้านเริ่มเปิดแล้ว ก็ไม่มีใครดูแลลูกที่บ้าน อันนี้ก็จะยิ่งเป็นปัญหาสังคมในอนาคต ผมว่าจำเป็นต้องกลับมาทบทวนเรื่องนี้ครับ
รศ.ดร.เจษฎา : ผมเห็นด้วยครับ ถามผมว่า ทำไมผมไปประท้วงที่กระทรวง กระทรวงศึกษาฯ เป็นส่วนหนึ่ง แต่ตัวหลักในการอนุมัติคือ ศบค. แต่จริงๆ มันทับซ้อนกันหลายส่วนมากเลย ประกาศที่ออกมาทับซ้อนกัน
การศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาฯ เป็นผู้ออกประกาศ พอเป็นมหาวิทยาลัย กระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นผู้ออกประกาศ ขณะเดียวกัน จังหวัดต่างๆ ผู้ว่าฯ ก็ออกประกาศ ทับกันไปมา แล้วคำสั่งจะคล้ายๆ กันคือปิดสถานศึกษาก่อน ไม่ค่อยเจอที่กระตุ้นให้เปิด ปัญหาก็คือว่า กระทรวงศึกษาฯ เอง ได้แต่เฝ้าคอย แทนที่จะพูดว่า ศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ
แหล่งข่าวผมเล่าว่า เวลาประชุมอะไรต่างๆ กระทรวงศึกษาฯ ไม่ได้มีบทบาทผลักดันมากนัก หรือโต้แย้งมากนัก คนไทยยังออกแนวเชื่อคุณหมอ ทุกอย่างจะเป็นไปตามสาธารณสุข แต่หลายอย่างเนี่ย มันต้องโต้เถียง
มันเหมือนกับว่าฝ่ายการคลัง ฝ่ายเศรษฐกิจ พาณิชย์ โต้เถียงว่า เศรษฐกิจต้องเดินหน้า ฉะนั้นกระทรวง ศึกษาก็ต้องไปโต้เถียงว่า เขาสามารถจะเปิดการเรียน ทำการสอนให้ปลอดภัยกับเด็กๆ ยังไงได้บ้าง แต่ที่ผ่านมา ผมพบว่า มีการพูดตรงนี้น้อยมาก กระทรวงศึกษาฯ ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร มันก็จะอยู่ในภาวะนี้ไปเรื่อยๆ
สมมติว่า อีก 2 เดือน ระบาดครั้งที่ 3 ระบาดครั้งที่ 4 สถานศึกษาก็โดนปิดก่อน จึงต้องกลับมาทบทวน ต้องเข้าใจหลักการของยูนิเซฟว่า สถานศึกษา โรงเรียน ต้องปิดทีหลัง แล้วเปิดก่อน ตรงนี้ ประเทศไทยยังไม่เข้าใจ
รศ.ดร.เจษฎา : ผมคิดว่าผมเป็นแค่คนตัวเล็กคนเดียวในตรงนั้น ยังไม่ได้มีบทบาทมากนัก แต่ว่าเท่าที่ดูเสียงตอบรับที่ผมทำไปแล้วเนี่ย เยอะไหม ก็เยอะ แล้วผมเชื่อว่า คนไม่เห็นด้วยก็คงมีแหละครับ
ถ้าเป็นไปได้ ตัวกระทรวงศึกษาฯ จะเรียกผมไปพูดคุยก็ได้ กระทรวงมีผู้เชี่ยวชาญมากมายแล้ว ทุกกระทรวงแหละครับ กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงสาธารณสุข
มาคุยประเด็นนี้กันได้ไหมว่า เด็ก เยาวชน เป็นเรื่องสำคัญ จะมีนโยบายด้านหนึ่ง แล้วทิ้งอีกด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะนี่คืออนาคตของประเทศชาติเลยนะครับ ฉะนั้นเราต้องหาทางออกที่ยั่งยืนรวมกัน ต้องใช้มาตรฐานเดียวกับที่นานาชาติทำ ผมอาจจะทำอะไรอีกบ้างบางอย่าง แต่คิดว่าตัวเองเป็นแค่จุดเริ่มต้น แล้วหวังว่า คนอื่นจะทำตามบ้างครับ