กรุงเทพฯ เตือนหลายเขต น้ำประปาเค็ม 10-18 ม.ค. ปัญหาภัยแล้งทำน้ำทะเลหนุน แนะคนเป็นโรคไต หัวใจ ความดัน เบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงบริโภค
นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่าในระหว่างวันที่ 10 - 18 ม.ค. 2564 นี้ น้ำทะเลจะหนุนสูงและอาจเกิดปรากฏการณ์ยกตัวของน้ำทะเลที่ปากอ่าวไทยสูงกว่าปกติ ซึ่ง กปน. มีการเฝ้าระวัง และดำเนินการบริหารจัดการการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ด้วยความรัดกุม หลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปาให้มากที่สุด เพื่อนำมาผลิตน้ำประปาที่โรงงานผลิตน้ำบางเขน สามเสน และธนบุรี ให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2564 นี้ คาดว่า กปน. จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และน้ำเค็มรุกสูงเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำประปามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไปในบางช่วงเวลา ในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยบางพื้นที่จะมีค่าความเค็มที่เกินมาตรฐาน ซึ่งโดยมากจะเป็นช่วงเวลากลางวัน โดยมีคำแนะนำว่า แม้น้ำประปายังบริโภคได้ แต่ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในช่วงเวลาดังกล่าว
ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แนะนำวิธีการรับมือน้ำประปาเค็มไว้ว่า วิธีการที่ดีที่สุด คือ การติดตั้งเครื่องกรองน้ำแบบ อาร์โอ RO (reverse osmosis) ซึ่งเป็นเครื่องกรองน้ำที่มีความละเอียดสูง กรองน้ำด้วยระบบออสโมซิสผันกลับ จะลดเกลือแร่ต่างๆ ที่ปนมากับน้ำประปาและทำให้มีรสเค็มได้
ซึ่งผู้บริโภคอาจจะคุ้นเคยกับระบบ RO ที่ตู้กดน้ำดื่มแบบหยอดตังค์ แต่ความจริงแล้ว เครื่องกรองน้ำที่จำหน่ายแบบติดตั้งตามบ้าน ก็มีรุ่นที่เป็นระบบ RO นี้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน มีการพัฒนาแผ่นเยื่อกรองให้สามารถกรองน้ำได้เป็นจำนวนมากในแต่ละวันได้แล้ว
ทั้งนี้ การรับมือกับน้ำประปาเค็ม จึงไม่ใช่การนำน้ำไปต้ม เพราะยิ่งต้มจะยิ่งมีรสเค็มกว่าเดิม เนื่องจากเป็นการระเหยน้ำออกไปให้เกลือมากขึ้น
กรมอนามัย ได้เผยแพร่ข้อมูลไว้ว่า ความเค็มจากน้ำประปาอาจเพิ่มโซเดียมเข้าสู่ร่างกายต่อวันในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ แต่อาจจะส่งผลต่อกลุ่มเสี่ยงแก่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ป่วยโรคทางสมอง ไต หัวใจ ความดันสูง เบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็ก