เปิด 5 จุดสังเกตธนบัตรที่ระลึกฯ 100 บาท แบบใหม่ หลังหลายคนสับสนและท้วงติงมีลักษณะคล้ายแบงก์ 1,000 บาท
หลังจากที่เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกใช้ธนบัตรที่ระลึกฯ เป็นวันแรก ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความสับสนระหว่างธนบัตรที่ระลึกฯ ใบละ 100 บาท กับ ธนบัตรใบละ 1,000 บาท ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านี้
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเปิด 5 จุด สังเกตความต่าง เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการใช้จ่ายของประชาชน ทั้งปัญหาเรื่องการทอนเงินผิดหรือไม่กล้ารับ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นแบงก์ปลอม จุดสังเกตมีง่ายๆ ดังนี้
1.ตัวเลขแจ้งชนิดราคา
2.ธนบัตรสีเหลืองทอง
3.ตราพระราชพิธีฯ
4.ตัวเลขชนิดราคาในดอกไม้
5.ภาพด้านหลัง
อย่างไรก็ตาม ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ประกอบด้วย 2 ชนิด คือ ธนบัตร 1,000 บาท จัดพิมพ์จำนวน 10 ล้านฉบับ และ ธนบัตร 100 บาท จัดพิมพ์จำนวน 20 ล้านฉบับ
ธนบัตรที่ระลึกฯ จะมีลักษณะโดยรวมและลักษณะการต่อต้านการปลอมแปลงเช่นเดียวกับธนบัตรชนิด 100 บาท ที่หมุนเวียนใช้ในปัจจุบัน แต่ที่ปรับสีโทนให้เป็นสีเหลือง และภาพด้านหลังเป็นภาพจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
ส่วนธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 1,000 บาท มีรูปทรงแนวตั้ง โดยใช้หมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้เป็นลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ใช้อยู่ในธนบัตรแบบปัจจุบัน