น้ำท่วมใต้ปีนี้หนักสุด ๆ ในรอบหลายปี พี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ภาคธุรกิจก็ได้รับความเสียหายจำนวนมากเช่นกัน หลายหน่วยงานกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน ส่วนแบงก์ก็ออกหลายมาตรการในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ตามไปดูกันว่าแบงก์ไหนเขาช่วยเหลือยังไงบ้าง
น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้ง เสียยังดีกว่า น้ำท่วมปีนี้ ทุกบ้านล้วนมี แต่คราบน้ำตา ฟังเพลงนี้ทีไรก็เศร้าทุกทีเพราะไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือฝนแล้ง ก็ล้วนแต่สร้างความเสียหายให้กับพ่อแม่พี่น้องทั้งนั้น แต่... จะว่าไปแล้วปี 2563 นี้ บ้านเราก็โดนทุกรูปแบบนะ บางพื้นที่ฝนแล้งก็มีหลายพื้นที่ บางที่น้ำท่วมก็มีหลายพื้นที่ อย่างเช่นตอนนี้ภาคใต้ก็อ่วมเลย
น้ำท่วมใต้ปีนี้เห็นว่ามีความรุนแรงสุด ๆในรอบหลายปีทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ทั้งในแง่ชีวิตความเป็นอยู่บ้านเรือน การทำมาหากิน และทำให้เศรษฐกิจเสียหายหนักซ้ำเติมโควิด -19 ไปอีก จึงทำให้หลายหน่วยงานกำลังเข้าไปให้ความช่วยเหลืออยู่ โดยเฉพาะแบงก์หลายแบงก์ที่ตอนนี้ได้ออกมาตรการต่าง ๆ มากมายให้ความช่วยเหลือลูกค้า และผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ วันนี้ “สปริงนิวส์ออนไลน์” จะพาไปส่องว่าแบงก์ไหนเขาช่วยเหลืออะไรบ้าง ? เผื่อน้องประชาชนจะได้เข้าใจในรายละเอียด เงื่อนไข และไปขอรับการช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว
มาดูแบงก์แรกที่ให้ความช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือชาวใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุ น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2563” ประกอบด้วย 1) ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก 2) ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก 3) ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน ดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด 4) ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ย 1% ต่อปี 5) เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี 6) ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร
และ 7) พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ จ่ายค่าสินไหมเร่งด่วน และกรณีกรมธรรม์เริ่มคุ้มครองตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกินภัยละ30,000 บาทต่อปี ติดต่อขอใช้มาตรการถึง 30 ธันวาคม 2563
แบงก์ต่อมาคือธนาคารออมสินได้จัดมาตรการเร่งด่วนช่วยภัยน้ำท่วมภาคใต้ พักชำระหนี้ทันที 3 เดือน เน้นช่วยเหลือพื้นที่ตามความหนักเบาของผลกระทบที่ได้รับ พร้อมทั้งให้กู้ฉุกเฉิน “สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ” รายละ 50,000 บาท โดยปีแรกไม่คิดดอกเบี้ย และ 3 เดือนแรกไม่ต้องจ่ายคืนเงินกู้ โดยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ของไทยได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสร้างความเสียหายต่อลูกค้าและประชาชนเป็นวงกว้าง
ธนาคารได้เร่งออกมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภท แบ่งเป็น 3 ระดับตามความหนักเบาของผลกระทบที่ได้รับ โดยเฉพาะระดับความรุนแรงสูง และทางการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัย ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบที่พักอาศัย/สถานประกอบการเสียหายส่งผลให้รายได้ลดลง และ/หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ธนาคารฯ ผ่อนปรนให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน
สำหรับระดับความรุนแรงปานกลาง ที่มีน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน และมีค่าใช้จ่ายปรับปรุง/ซ่อมแซม ให้พักชำระเงินต้นและชำระแต่ดอกเบี้ย 50% ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และระดับความรุนแรงขั้นต้น ที่ถูกภัยน้ำท่วมและมีน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน ให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี และชำระเงินแต่ดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้เท่ากับระยะเวลาพักชำระเงินต้น
ขณะเดียวกัน ธนาคารฯ ยังให้ประชาชนที่ประสบภัยกู้เงินฉุกเฉิน “สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม/ภัยพิบัติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.85 ต่อเดือน (Flat Rate) ชำระเงินเป็นรายเดือน 3-5 ปี โดยปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรกนอกจากนี้ ยังให้สินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพิ่มเติมสำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบเพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ถึง 100% ของราคาประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
ทางด้านแบงก์ ธ.ก.ส. นำโดยนายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าให้ความช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส. จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย
และจะพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน บรรเทาความเดือดร้อนและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะ 6 เดือนแรก และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย
มาทางฟาก SME D Bank ก็ได้ออก 2 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ให้สิทธิพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนานสูงสุด 6 เดือน และเติมทุนสินเชื่อฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำพิเศษ นำไปใช้หมุนเวียนฟื้นฟูกิจการ โดยนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และวาตภัย ส่งผลกระทบให้ประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ต้องประสบปัญหาทางตรงและทางอ้อมต่อการประกอบอาชีพ SME D Bank มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ออก 2 มาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
1.มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) พักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วนสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) ออกมาตรการช่วยเหลือพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
2.มาตรการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ลูกค้าธนาคารที่ได้รับความเสียหาย มีเงินทุน นำไปฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.99 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท 2.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และ 3.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อน และสามารถใช้หลักประกัน บสย. ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท
พ่อแม่พี่น้องที่เป็นลูกค้า หรือเจ้าของธุรกิจที่อยู่ทางภาคใต้ และได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมควรรีบศึกษาในรายละเอียดความช่วยเหลือต่าง ๆ ของแต่ละแบงก์เพื่อไปขอรับช่วยเหลือได้ถูกต้อง และเป็นรักษาผลประโยชน์ของท่าน !