กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศเตือนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมขังในช่วงวันที่ 12-13 พ.ย.นี้ จะมีฝนตกหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ 10 จังหวัด ครอบคลุม ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากอิทธิพล "พายุเอตาว"
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมขัง ฉบับที่ 16 จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุเอตาว บริเวณประเทศกัมพูชา ส่งผลให้ลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินฝนจากแผนที่คาดการณ์ปริมาณฝน (One Map) พบว่า ในช่วงวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2563 จะมีฝนตกหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่ไหลหลากบริเวณที่ลาดเชิงเขา รวมทั้งทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเกินความจุส่งผลให้น้ำหลากเอ่อลันตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำและด้านท้ายน้ำได้ ดังนั้น จึงขอให้ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากในพื้นที่ 10 จังหวัดในภาคใต้
ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ดังนี้
1. ติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
2. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงบริเวณต่างๆ ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพและคลื่อนย้ายสิ่งของได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์น้ำหลาก
3. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการระบายน้ำในลำน้ำ/แม่น้ำ
4. พิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 95 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง, อ่างเก็บน้ำบางวาด จังหวัดภูเก็ต, อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ่างเก็บน้ำคลองหยา และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จังหวัดกระบี่ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ
5. จัดเจ้าหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วยเครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ตลอดจนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้สามารถรองรับน้ำฝน และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ