ภาษี คือ สิ่งที่ประชาชนผู้มีรายได้ และภาคธุรกิจ จะต้องเสียภาษีจ่ายเงินเข้ารัฐเป็นประจำทุกปี เพื่อที่จะนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาประเทศต่อไป ส่วนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยก็ต้องมีการเสียภาษีเช่นกัน ล่าสุดก็มีความคืบหน้าเรื่องภาษี E-Service ต่างชาติ ที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในไทยที่จะต้องจ่ายภาษีให้กรมสรรพากรในเร็วๆนี้
ภาษี คือ อีกหนึ่งรายได้ที่รัฐบาลต้องจัดเก็บจากผู้มีรายได้ และภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อนำเงินเข้ารัฐ และนำเงินเหล่านั้นไปบริหารจัดการ พัฒนาประเทศ ในทุก ๆ ด้านให้ดียิ่งขึ้นไป ตอบสนองความต้องการ บรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน แต่หากจะพูดถึงเรื่องภาษีก็มีหลายประเภทที่รัฐจัดเก็บอยู่ในขณะนี้ รวมถึงภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย
ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงมากที่สุดเกี่ยวกับภาษีในปี 2563 คือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) โดยเมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอไป ล่าสุดเรื่องนี้ได้ผ่านการประชุมกรรมาธิการ หรือ กมธ. ไปแล้ว และจะก้าวสู่ขั้นตอนต่อไปในเร็ววันนี้เพื่อนำไปสู่การจัดเก็บภาษีได้จริงในเร็ว ๆนี้ โดยวันนี้ “สปริงนิวส์ออนไลน์” จะมาสรุปให้ฟังว่าใครที่จะต้องเสียภาษีนี้ แล้วมีกระบวนการเป็นอย่างไรบ้าง ?
มาเริ่มกันที่การจำกัดขอบเขตของสินค้ากันก่อน ในที่นี้ “สินค้า” หมายถึง ทรัพย์สินที่มีรูปร่าง และไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคา และถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
.
การ “บริการอิเล็กทรอนิกส์” หมายถึง บริการที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด และ “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” หมายถึง ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใดที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ เช่น การบริการ e-service จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ การบริการดาวโหลด สื่อบันเทิงต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนในประเทศ และมีการใช้บริการนั้นในประเทศ ซึ่งมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้าในประเทศไทยที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นแสดงรายการภาษี และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพากร
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากร และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถกระทำผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ พร้อมทั้งห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกำกับภาษี
สำหรับการจัดเก็บภาษีประเภทนี้มีจุดมุ่งหมายในการทำให้เกิดความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ระหว่างดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ให้บริการจากต่างประเทศ และผู้ให้บริการดิจิทัลที่เป็นผู้ประกอบการในไทย ขอย้ำอีกครั้งว่าดิจิทัลแพลตฟอร์มผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการขาย เช่น App Store หรือ Play Store ฯลฯ ต้องมีหน้าที่นำส่ง VAT ให้กับกรมสรรพากรแทนผู้ผลิต App ที่อาจเป็นผู้ประกอบการจากทั่วโลก
ทั้งนี้หากพระราชบัญญัติ e-Service บังคับใช้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศต่าง ๆ ที่ให้บริการและมีรายได้ในไทย ต้องมาจดทะเบียนเสียภาษีกับกรมสรรพากร ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการและสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งคาดว่ากระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยในต่างประเทศอย่าง เช่น ออสเตรเลีย เกาหลี ก็ใช้กฎหมายลักษณะนี้เช่นกันซึ่งได้ผลมาแล้ว
อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายยังจะมีการนำเสอให้มีการจัดเก็บภาษี DST (Digital Services Tax) ซึ่งจะเป็นภาษีที่จัดเก็บจากฐานรายได้ของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่ปัจจุบันไม่เคยเสียภาษีนิติบุคคลให้กับไทย ซึ่งเรื่องนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก้ได้มีการพูดถึงประเด็นนี้กันไปบ้างแล้วเพื่อให้กรมสรรพากรนำไปพิจารณาปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป