svasdssvasds

นักวิจัย แนวหน้า : รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ผสานความรู้

นักวิจัย แนวหน้า : รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ผสานความรู้

รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ปีนี้ ได้แก่นักวิจัยที่คิดค้นวัสดุไฮบริดจ์ พัฒนาสารกึ่งตัวนำจากสารประกอบโคออร์ดิเนชันพอลิเมอร์ซึ่งเป็นวัสดุใหม่สำหรับการใช้งานในเชิงอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายชนิด

หลายๆ คนคงรู้จัก รางวัลโนเบล (Nobel Prize) ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องเชิดชูความสำเร็จทางสติปัญญาอันโดดเด่นของมนุษยชาติในหลากหลายสาขาวิชา โดยรางวัลโนเบลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดนี้ จะมอบให้แก่ผู้สร้างผลงานใน 6 สาขา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี วรรณกรรม สรีรวิทยาหรือการแพทย์ การส่งเสริมสันติภาพ และเศรษฐศาสตร์

สำหรับประเทศไทย รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ นับเป็นหนึ่งในรางวัลอันทรงเกียรติของประเทศ เพื่อเชิดชูผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ เป็นการมอบรางวัลในทุกๆ ปี และจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 38 แล้ว โดยล่าสุด ดร.พิชญ พัฒนสัตยวงศ์อาจารย์จากสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2563 จากผลงานวิจัย “วัสดุไฮบริดเพื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่”

โดยผลงานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาสารกึ่งตัวนำชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน สารดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนส่วนประกอบและโครงสร้างได้หลากหลาย เพื่อทำการควบคุมคุณสมบัติด้านอิเล็กทรอนิกส์ การตอบสนองต่อแสงหรือการทำปฏิกิริยาเคมี สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง เช่น สร้างเป็นทรานซิสเตอร์ชนิดฟิล์มบางสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ใช้เป็นส่วนประกอบในโซลาร์เซลล์หรือไดโอดเปล่งแสง ใช้ในกระบวนการผลิตสารเคมีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หรือไฟฟ้า หรือใช้เป็นเซ็นเซอร์ในอุปกรณ์ต่างๆ ก็ได้เช่นกัน

สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนโดยกลุ่ม ปตท. รวมทั้งพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะให้นิสิต นักวิจัย และคณาจารย์ที่มีความสามารถสูง มีโอกาสและความพร้อมในการทำวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าอย่างเข้มข้น สร้างบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้มั่งคั่งอย่างยั่งยืน ด้วยการคิดค้นองค์ความรู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงระดับโลก อันจะนำไปสู่การต่อยอดและก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดังนั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำวิจัยชั้นแนวหน้าของบุคลากร VISTEC จึงพร้อมสรรพไปด้วยห้องปฏิบัติการที่มีอุปกรณ์ครบครันพร้อมเครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาตรฐานสากล อีกทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้าถึงฐานข้อมูลระดับโลกทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมและการวิจัยขั้นสูง มีศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัยและห้องสมุดที่มีการจัดการพื้นที่หมาะสมเพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและการสร้างสรรค์ของ นักวิจัย การทำงานร่วมกัน รวมถึงการเข้าถึงฐานข้อมูลออนไลน์และสื่อการเรียนรู้สำหรับการสอนและการวิจัยได้ทันที

การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ในความหมายของการพัฒนาประเทศ คือ การทำคู่ควบกันไปโดยการใช้การวิจัยอย่างน้อย 3 ประเภท คือ วิจัยพื้นฐาน (Basic Research) วิจัยประยุกต์ (Applied Research) และวิจัยเพื่อพัฒนา (Development Research) หรือ Experimental development โดยวิจัยพื้นฐานเป็นฐานรองรับอีก 2 ประเภทตามลําดับ บางประเทศสร้างฐานอีกฐานหนึ่งคือ Basic basic research ที่เน้นด้านองค์ความรู้ การพัฒนาจึงนําเอางานที่นักวิจัยเหล่านี้คิดค้น ไปสร้างสรรค์เพื่อประเทศชาติและประชาชนในแนวกว้างต่อไป

 

 

 

ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า การพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยนักวิจัยเพื่อคิดค้นองค์ความรู้ สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีศักยภาพเพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมเปลี่ยนจากประเทศผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน

 

 

 

 

 

related