เมื่อ บอส อยู่วิทยา กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง ย้อนดูสื่อต่างประเทศกับประเด็นความเหลื่อมล้ำในไทย ความไม่เท่าเทียมบนท้องถนนและระบบยุติธรรม “ถนนเมืองไทยอันตรายถึงตาย โดยเฉพาะถ้าคุณจน”
ข่าวใหญ่เมื่อเดือนกันยายน 2555 เกือบ 8 ปีที่แล้ว คงจะไม่พ้นการโหมรายงานข่าวที่ว่า ทายาทกระทิงแดง บอส อยู่วิทยา ขับรถเฟอรรารีชนเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วขับลากร่างคนถูกชนไปบนถนนกว่า 100 เมตร ก่อนขับรถหนีไป
วันนี้เป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อสื่อยักษ์ใหญ่ ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯรายงานพร้อมเผยแพร่จดหมายแจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ส่งตรงจาก สน.ทองหล่อ ไปยังบ้านพักของวรยุทธ ระบุว่า “อัยการสูงสุดตัดสินใจยกทุกคำฟ้องที่มีต่อ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ส่วนคณะกรรมการตำรวจก็ไม่ได้คัดค้านการตัดสินใจนี้ และจะดำเนินการยกเลิกหมายจับต่อไป”
บอส วรยุทธ อยู่วิทยา หลานชายเจ้าของกระทิงแดง ถูกจับตาจากสำนักข่าวทั่วโลก ว่าเขาคือคนอยู่หลังพวงมาลัยกับเหตุชนเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเสียชีวิตในปี 2555 เมื่อหลายปีผ่านไปที่ยังไม่มีการดำเนินคดี สำนักข่าวของอังกฤษ บีบีซี ลงบทความเรียกวรยุทธว่า “The Untouchable” หรือแปลตรงๆ ว่าจับต้องไม่ได้ บีบีซีระบุว่า “แม้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เช้าตรู่วันที่ 3 กันยายน จะชัดเจนพอสมควร”
เจ้าหน้าที่สืบสวนได้ตามรอยน้ำมันเบรกของรถยนต์เฟอร์รารีสีเทาคันก่อเหตุ ไปจบตรงหน้าบ้านหลังใหญ่ที่ห่างไปไม่ถึง 1 กิโลเมตร บ้านของตระกูลอยู่วิทยา
หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ ของฮ่องกง รายงานว่า หลังเกิดเหตุ ทนายของวรยุทธ ระบุว่าเขาไม่ได้หลบหนี เพียงแต่จะรีบไปแจ้งบิดาถึงเหตุที่เกิดขึ้น และระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูง เกิดจากการดื่มหลังถึงบ้านแล้ว
เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ระบุว่า ไม่กี่สัปดาห์หลังเกิดเหตุ วรยุทธยังคงใช้ชิวิตตามไลฟ์สไตล์เดิม เดินทางทั่วโลกด้วยเครื่องบินเรดบูล เพื่อไปเชียร์ทีมแข่งรถฟอร์มูลาวันของเรดบูล นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าเขามีรถเฟอร์รารีคาร์เรราอีกคันในกรุงลอนดอน ป้ายทะเบียน B055 RBR “ไม่ยากเลยที่จะหาตัว(วรยุทธ)”
ตำรวจใช้เวลา 6 เดือนในการเตรียมเรื่องตั้งข้อหา และวรยุทธก็ไม่ได้ปรากฏตัวเพื่อรับฟังข้อกล่าวหาทั้ง 7 ครั้งตลอดปี 2556 และข้อหาขับรถเกินความเร็วที่กำหนดก็หมดอายุความในเดือนกันยายนปีนั้น กันยายนปีเดียวกัน อัยการสั่งออกหมายจับวรยุทธ “แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” บีบีซีย้ำและ “ดูเหมือนว่าคดีนี้จะถูกลืม”
ครอบครัวของนายตำรวจที่เสียชีวิต ไม่ค่อยได้ออกสื่อมากนัก และมีรายงานข่าวว่าครอบครัวอยู่วิทยาได้ช่วยค่าใช้จ่ายกับครอบครัวนายตำรวจ 3 ล้านบาท และครอบครัวตัดสินใจไม่ฟ้องวรยุทธ
“คนน้อยมากที่จะพนันว่าเขา(วรยุทธ)จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือมีการลงโทษอะไรที่มีความหมายก่อนที่คดีจะหมดอายุความ และวรยุทธจะเป็นอิสระจากเหตุที่เกิดขึ้น” บีบีซีรายงาน
กุมภาพันธ์ 2560 สำนักข่าวเอพีรายงาน พบวรยุทธพักอยู่ที่โรงแรมหรูในหลวงพระบาง ประเทศลาว
มีนาคม 2560 เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ตั้งแต่หลังเกิดเหตุเมื่อเดือนกันยายน 2555 มีการโพสต์ในโซเชียลมีเดียมากกว่า 120 โพสต์ที่เผยให้เห็นว่าวรยุทธเดินทางไปทั่วโลกอย่างน้อย 9 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นล่องเรือในโมนาโค เล่นสโนว์บอร์ดที่ญี่ปุ่น ฉลองวันเกิดในกรุงลอนดอน กินอาหารเย็นในฝรั่งเศส หรือแช่สระน้ำในอาบูดาบี
พฤษภาคม 2560 เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานอีกว่า ตำรวจไทยยังพยายามหาตัวว่าวรยุทธอยู่ที่ไหน แต่ก็มีรายงานข่าวว่าเขานั่งเครื่องบินส่วนตัวไปสิงคโปร์ ก่อนที่จะมีหมายจับไม่กี่วัน
กันยายน 2560 สำนักข่าวเอพีรายงาน ว่าองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศหรือ Interpol ได้เผยแพร่บนเวบไซท์ ชื่อวรยุทธอยู่ในหมายแดง ว่าเป็นบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัว อย่างไรก็ตาม วันนี้ (24 กรกฎาคม 2563) หน้าเพจดังกล่าวของ Interpol ก็ไม่มีอยู่แล้ว
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เคยเผยแพร่บทความพูดถึงความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย เมื่อสิงหาคมปีที่ผ่านมา พาดหัวว่า “ถนนเมืองไทยอันตรายถึงตาย โดยเฉพาะถ้าคุณจน”
หนังสือพิมพ์เล่าถึงอุบัติเหตุในประเทศ คนจำนวนมากที่มีมอร์เตอร์ไซต์เป็นพาหนะหลักของครอบครัว ความยุติธรรมที่ไม่ได้หยิบยื่นอย่าง “ยุติธรรม” กฎระเบียบบนถนนอาจไม่ได้บังคับใช้กับทุกคน
ประเทศไทยถูกจัดอันดับโดย Credit Suisse เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดของปี 2561 “แต่ประเทศไทยต่างจากประเทศยากจน ถนนในไทยคุณภาพดี ทำให้ขับรถได้เร็ว และรถมากมายที่ขับโดยคนรวยและคนชนชั้นกลางที่มากขึ้นเรื่อยๆ มักเป็นรถใหม่ และเร็ว”
แต่ครอบครัวไทยจำนวนมากมีปัญญาซื้อหาแค่จักรยานยนต์เท่านั้น และหมวกนิรภัยคุณภาพสูงก็เป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับหลายๆ คน แม้ว่ากฎหมายจะบังคับว่าต้องใส่
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ความตายบนท้องถนนในไทยกระจายอย่างไม่เท่าเทียม “ความยุติธรรมก็ถูกหยิบยื่นอย่างไม่เท่าเทียมเช่นกัน”
“กลุ่มคนที่รวยมากๆ (Superrich) หรือคนที่อยู่ในฐานะที่มีอำนาจ กฎระเบียบบนถนนอาจไม่ได้บังคับใช้กับทุกคน พวกเขารู้ว่าเขาขับรถเร็วเกินกว่ากำหนดได้และจะไม่ได้รับโทษ และดื่มหนักก่อนจะจับพวงมาลัยได้ ด้วยความกลัวน้อยมากว่าจะได้รับผลที่ตามมา”
นิวยอร์กไทมส์พูดถึงหลายกรณีในไทย และคดีทายาทอยู่วิทยา ก็เป็นหนึ่งในคดีที่ถูกกล่าวถึง
ตามหลักการ กฎหมายและระเบียบของประเทศนั้นๆ และระบบยุติธรรม ควรต้องถูกบังคับใช้กับทุกคนเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงชนชั้น รายได้ เชื้อชาติ หรือศาสนา
เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลก เอฟเวอร์ลิน เมอร์ฟี ระบุว่า “สิ่งที่ชัดเจนในประเทศไทยคือ ถนนไม่ได้ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทุกคน” ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือคนเดินเท้า ความปลอดภัยของผู้ใช้ทุกคนต้องได้รับการพิจารณา “โดยไม่คำนึงถึงรายได้”
นิวยอร์กไทมส์วิจารณ์การทำงานของตำรวจไทยว่ามีการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน ประเทศไทยมีกฎหมายเพื่อจัดการปัญหา ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักๆ ของการเสียชีวิตบนท้องถนนในไทย “แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่มี”
บทความระบุว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ทุจริต เรื่องคนรวยหรือคนที่รู้จักคนมีอำนาจรู้ว่า “การให้สินบนสามารถเป็นทางออก หากถูกจับว่าฝ่าฝืนกฎจราจร”
รัฐบาลไทยเคยประกาศว่าจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ได้ครึ่งหนึ่ง “แต่ไม่มีพรรคการเมืองไหนหยิบขึ้นมาเป็นประเด็น”
หน่วยงานต่างๆ โยนความรับผิดชอบกันไปมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร ระบุว่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบขององค์กรต่อ การริเริ่มโครงการความปลอดภัยบนท้องถนนในระดับประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นปัจจัยใหญ่ ต้องทำให้คนรู้ว่าหากละเมิดกฎหมาย ก็จะต้องมีผลตามมา ขณะที่นิวยอร์กไทมส์อ้างคำสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยนายหนึ่งระบุว่า มีอะไรมากมายที่ตำรวจทำไม่ได้ “สร้างถนนเพิ่มไม่ได้ เปลี่ยนจำนวนรถบนถนนไม่ได้ เปลี่ยนทัศนคติคนให้มีระเบียบมากขึ้นไม่ได้”