ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
วันนี้ (12 ก.ค. 60) - นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศว่าที่ประชุมได้ข้อสรุปคือ คณะกรรมการ ป.ย.ป.ยังทำงานต่อไป หลังพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ บังคับใช้ โดยการประชุมคณะกรรมการป.ย.ป.จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ค.การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการเตรียมเรื่องปฏิรูปเข้าที่ประชุม โดยมีทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่การปฏิรูปกฎหมาย โดยจาก 37 วาระเร่งด่วนนั้น ณ วันนี้ตามรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป 11 ด้าน ได้มีการแยกการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปตำรวจออกไป ส่วนที่เหลือในเรื่องของการปฏิรูปกฎหมาย และการปฏิรูประบบราชการ แบ่งเป็น 7 วาระสำคัญคือ
1.การปฏิรูปกฎหมาย
2.การปฏิรูประบบตัวชี้วัดของภาครัฐทั้งหมด
3.ปฏิรูปการทำงานรัฐบาลให้มีความคล่องตัวและกระชับมากขึ้น
4.ปฏิรูปจัดสรรกำลังพลภาครัฐ ทำอย่างไรให้มีข้าราชการในจำนวนที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งต่อไปจะมีรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล โดยที่กำลังพลบางส่วนจะหายไปและบางส่วนถูกแทนที่ด้วยข้าราชการที่มีทักษะอีกแบบหนึ่ง โดยคงข้าราชการที่มีประสิทธิภาพไว้ และเอาข้าราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพออก
5.การปฏิรูปงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
6.การปรับเปลี่ยนข้าราชการสู่ระบบดิจิทัล
และ 7.การยกระดับการบริการให้ประชาชน ผลักดันพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก
โดยทั้ง 7 เรื่องการทำให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม ผ่านกลไกประชารัฐ ด้วยการปฏิรูประบบราชการต้องไม่ทำด้วยตัวเอง แต่ต้องมีภาคประชาชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยภาคประชาชนมีรายชื่อบ้างแล้ว เช่น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล มาช่วยดูการปฏิรูปงบประมาณ นายกานต์ ตระกูลฮุน มาช่วยเรื่องการปฏิรูปการยกระดับการบริการให้ประชาชน
นายสุวิทย์ กล่าวว่า ส่วนการปฏิรูปกฎหมายมีความคืบหน้าหน้า กฎหมายที่ล้า สมัยภาคเอกชนได้ลงขันจัดจ้าง นายสก๊อต จาค็อบ (Scott Jacobs) ประธานบริษัทที่ปรึกษากฎหมายบริษัท Jacobs,Cordova & Associates ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษารัฐบาลเกาหลีใต้ และเคยปฏิรูปกฎหมายให้เกาหลีใต้จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มาทำเรื่องนี้ โดยคณะกรรมการร่วม กกร. ลงขันว่าจ้าง มีกำหนดการแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน
นายสุวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือกฎหมายที่ต้องร่างตามรัฐธรรมนูญ 4-5 ฉบับที่สำคัญ และมีการนำเสนอจากกลุ่มของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ คือทำกฎหมายให้เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าใจ ขณะที่สำนักงานก.พ.และสำนักงานก.พ.ร.ได้นำเสนอแผนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 6 แผน ที่กำหนด 6 เดือนข้างหน้าจะบรรลุผลอะไรบ้าง เพื่อเห็นภาพการปฏิรูปเป็นรูปธรรมเห็นผลภายใน 1 ปีในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง (อปป.) ในคณะกรรมการ ป.ย.ป. กล่าวว่า โจทย์ที่ตั้งไว้มี 8 เรื่องใหญ่ 20 ประเด็นย่อย โดยสิ่งที่นำเสนอที่ประชุมคือ กำหนดว่าแต่ละเรื่องจะเดินหน้าอย่างไร แล้วเสร็จเมื่อไหร่ เช่น 1 เดือนหลังจากนี้ จะมีกฎหมายจัดตั้งธนาคารที่ดิน พ.ร.บ.ป่าชุมชน การแก้ไขพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เพื่อปฏิรูปปัญหาขัดแย้งที่ดินป่า และให้ชุมชนร่วมรักษาป่าร่วมกับภาครัฐได้
นายบัณฑูร กล่าวว่าภายใน 2 เดือนข้างหน้า จะมีการออก พ.ร.บ. ยุติธรรมชุมชนและพ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อจัดตั้งระบบยุติธรรมชุมชนให้เป็นกลไกหาข้อยุติความขัดแย้งกับชุมชน โดยไม่ต้องให้เรื่องไปถึงชั้นศาล นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA/EHIA จะต้องแล้วเสร็จด้วยเช่นกัน
ด้านนางสีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการสานพลังปฏิรูปเพื่อพัฒนาพื้นที่และสังคม กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้การปฏิรูปมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ โดยจะทำงานจากระดับล่างขึ้นบน เปิดเวทีตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด พร้อมกันทั่วประเทศ ให้ชาวบ้านคิดจากปัญหาของพวกเขา ควบคู่กับสิ่งที่รัฐบาลคิด แล้วนำไปสู่การตั้งเป้าหมายเพื่อทำข้อตกลงร่วมกันว่าต้องการเห็นการปฏิรูปร่วมกันอย่างไร ทำให้เกิดสัญญาประชาคมหรือทีโออาร์ให้นักการเมืองหลังการเลือกตั้งว่าเขาควรจะทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ถือเป็นครั้งแรกที่ทำงานอย่างกว้างขวางแบบนี้ นางสีลาภรณ์ กล่าวว่า นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการสานพลังคนรุ่นใหม่เพื่อปฏิรูปพื้นที่เอาคนรุ่นใหม่กลับเข้าชนบท พัฒนายกระดับการประกอบการในพื้นที่ร่วมกับ 18 หน่วยงานภาคี เพื่อขับเคลื่อนภาคชนบทให้พลิกฟื้น และยังเห็นชอบการขับเคลื่อนพื้นที่ทางวัฒนธรรม เน้นสร้างประชาคมวัฒนธรรม ค้นหาทุนทางวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยว หรือผลิดเป็นสินค้า ทำให้วัฒนธรรมกินได้ ไม่ใช่ของเลื่อนลอย