ย้อนรอย 15 ปี 26 ธันวาคม 2547 สึนามิ คลื่นยักษ์กลืนชีวิต พัดถล่มกว่า 14 ประเทศทั่วโลก ถูกนับให้เป็นภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความเสียหายเช่นกัน
วันที่ 26 ธันวาคม 2562 เข้าสู่ปลายเดือนธันวาคม เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่รอคอยมาตลอดทั้งปี เพื่อใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัวอันเป็นที่รัก แต่สำหรับบางครอบครัวช่วงเวลาดังกล่าว อาจเป็นสิ่งที่ไม่น่าจดจำที่สุดในชีวิต เมื่อถึงเวลาที่หลายครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้า ขณะเดียวกันบางครอบครัวอาจเป็นช่วงเวลาที่ต้องนึกถึงการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ไปกับเหตุการณ์ที่ถูกจารึกไว้อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ภัยพิบัติทางธรรมชาติของโลก ครบรอบ 15 ปี คลื่นยักษ์ "สึนามิ"
เวลา 07:58 น. (เวลาในประเทศไทย) ของวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 หลังคืนวันคริสต์มาส เทศกาลแห่งความสุข นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ หลายคนกำลังหลับใหล ขณะที่นักท่องเที่ยวบางคนเลือกจะชมดื่มด่ำกับบรรยากาศความสวยงามของท้องทะเลที่เงียบสงบ และท้องฟ้าที่แจ่มใส ตลอดชายหาดที่สวยงามริมชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต หมู่เกาะพีพี หาดอ่าวนาง จ.กระบี่ และอุทยานแห่งชาติเขาหลัก จ.พังงา แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า อีกไม่กี่อึดใจ ภาพที่สวยงามตรงหน้าจะกลายเป็นภาพสุดท้าย โดยไม่มีเค้าลางว่า "หายนะ" กำลังเคลื่อนตัวมาหาพวกเขา
ในขณะนั้น เกิดแผ่นดินไหวในทะเลเหนือเกาะสุมาตรา ขนาด 9.2 จุดศูนย์กลางอยู่ใต้มหาสมุทรอินเดียลึกลงไปประมาณ 30 กิโลเมตร จุดเหนือศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ถึง จ.ภูเก็ต และในอีกหลายจังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทย
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น มีการรายงานผ่านทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิด "สึนามิ" เพราะในประวัติศาสตร์โลกไม่เคยมีการบันทึกไว้มาก่อนว่าเคยเกิด "สึนามิ" ขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก และเพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้แม้ก่อนเกิดเหตุจะมีสัญญาณเตือนทางธรรมชาติ คือ ระดับน้ำทะเลที่ลดลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ รวมไปถึงสันคลื่นที่ก่อตัวเป็นกำแพงขนาดใหญ่ ก็ไม่มีใครรู้ตัวว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา จะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่
[caption id="attachment_591976" align="alignnone" width="612"] Initial earthquake and aftershocks measuring greater than 4.0 Mw from 26 December 2004 to 10 January 2005[/caption]
เวลาประมาณ 10:00 น. (เวลาในประเทศไทย) คลื่นยักษ์ได้พัดเข้าถล่มบริเวณชายฝั่งของประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย มัลดีฟส์ โซมาเลีย เมียนมาร์ มาเลเซีย แทนซาเนีย แอฟริกาใต้ บังคลาเทศ เยเมน เคนยา มาดากัสการ์ หมู่เกาะเซเชลส์ รวมทั้งประเทศไทย สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล
จากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่รอดชีวิต ทราบว่า ขนาดของคลื่นยักษ์ที่ซัดเข้าชายฝั่ง มีขนาดสูงกว่า 30 เมตร หรือเทียบเท่ากับตึก 10 ชั้น ภายในเวลา 10 นาที ที่คลื่นซัดถล่มชายฝั่ง เฉพาะในประเทศไทย มีคนสังเวยชีวิตไปกว่า 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน สูญหายอีก 2,000 คน และเด็กๆ กว่า 1,400 ชีวิต ต้องกลายเป็นลูกกำพร้า มูลค่าความเสียหายต่อทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท
นอกจากนี้เหตุการณ์ครั้งนั้น ยังทำให้ คุณพุ่ม เจนเซ่น พระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ถึงแก่อนิจกรรมด้วย ขณะที่คุณพุ่มเล่นเจ็ตสกีอยู่ชายหาดโรงแรมมันดะเลย์รีสอร์ต บ้านเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สิริอายุ 21 ปี
ขณะที่ความเสียหายด้านเศรษฐกิจในไทย ที่ใหญ่ที่สุด คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทะเลอันดามัน ที่ต้องใช้ฟื้นฟูใหม่นานหลายปี โดยจุดที่พบนักท่องเที่ยวเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด คือ ชายทะเลเขาหลัก ในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
หากนับผลกระทบทั้งหมด "สึนามิ" ครั้งนั้น สร้างความเสียหายต่อ 14 ประเทศ 1 หมู่เกาะ คร่าชีวิตผู้คนรวมมากกว่า 2.3 แสนคนและสูญหายอีก 4.4 หมื่นคน ประชาชนกว่า 1.69 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย ประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดเรียงตามลำดับ คือ อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย และไทย มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 840,000 ล้านบาท
และแม้เวลาจะผ่านไปนานสักกี่ปี ความโศกเศร้า ความเสียใจ คงไม่มีวันเลือนหายไปจากครอบครัวผู้สูญเสีย ที่ต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก