SHORT CUT
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษ เบื้องต้นผู้เสียหาย 920 คน มูลค่ากว่าพันล้านบาท
ย้อนรอยคดี Zipmex เคลื่อนย้ายสินทรัพย์ลูกค้าไปต่างประเทศ ลงทุนเสี่ยงสูงโดยไม่แจ้งเงื่อนไขใหม่ จนขาดสภาพคล่องและลูกค้าเสียหาย
ศาลอาญาตัดสิน Zipmex และอดีตซีอีโอมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน พร้อมสั่งปรับบริษัทและจำคุกอดีตซีอีโอ 5 ปี.
ย้อนรอยคดี “Zipmax” ก่อนอธิบดี DSI สั่งรับเป็นคดีพิเศษ เบื้องต้นมีผู้เสียหายกว่า 920 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,019 ล้านบาท
ตามที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอนุมัติให้มีการสอบสวนคดีพิเศษที่ 43/2568 กรณี บริษัท ซิปเมกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “Zipmex ” ซึ่งได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อสาธารณะและสื่อออนไลน์ต่างๆ ชักชวนให้ประชาชนนำเงินดิจิทัล มาฝากไว้ในกระเป๋าสำหรับการฝากสินทรัพย์ตามเงื่อนไขของบริษัทฯ เพื่อรับผลตอบแทน หรือ Z-Wallet เพื่อใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ ZipUp/Ziplock /ZipUp+ โดยมีการกำหนดให้ผลตอบแทนจำนวนสูง ซึ่งมีการเสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายอัตรานั้นได้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้มีการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อกำหนดแนวทางการสอบสวน การวางรูปคดีและการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบูรณาการการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เสียหายต่อไป
บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด Zipmex ผู้ให้บริการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลและแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคริปโตเคอร์เรนซี จากสิงคโปร์ ที่ได้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยด้วยทุนจดทะเบียน 112 ล้านบาท เพื่อประกอบกิจการศูนย์ซื้อขายและรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อปี 2561 และเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์นักลงทุนหลายคนดำเนินการซื้อ-ขายต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์ม Zipmex ในปี 2564-2565 ตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ โดยมีผลิตภัณฑ์ ZipUp และ ZipUp+
โดยมีผู้ถือหุ้น ดังนี้
จากนั้นพบว่ามีการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์จำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Zipmex Thailand ไปที่ Zipmex Asia ที่สิงคโปร์ เพื่อนำไปลงทุนต่อใน Celsius Network และ Babel Finance แต่เมื่อ Terra ล่มสลายทำให้ Zipmex ขาดสภาพคล่อง จนต้องแถลงระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราวจากแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Zipmex ให้ในเดือนกรกฎาคม 2565
นอกจากนี้ยังมีการโยกย้ายสินทรัพย์ของลูกค้าไปเก็บไว้บน ZipUp+ แทน โดยไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไขการให้บริการ จนมีการฟ้องร้องกันขึ้นมาหลังเกิดความเสียหาย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ Zipmex Thailand ว่าได้กระทำการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้งแก่ลูกค้า และได้โอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกเพื่อใช้หาผลประโยชน์ที่อื่น ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการ ZipUp และ ZipUp+ ได้รับความเสียหาย
ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของ Zipmex ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2567
แม้ว่าในปี 2565 เริ่มมีผู้เสียหายยื่นฟ้องศาลอาญาเพื่อเอาผิดต่อ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และนายเอกลาภ ในฐานร่วมกันยักยอกฉ้อโกงและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ สืบเนื่องจากกรณีปัญหาการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกับ Zipmex แต่ถูกยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอ หลังจากนั้นกลุ่มผู้เสียหายรวมตัวกันเป็น “กลุ่มร่วมสู้ Zipmex” ที่มีทั้งประชาชนและนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเกือบ 500 ราย เดินหน้าประสานภาครัฐต่อเพื่อทำคดีอาญา นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้มีการว่าจ้างนักกฎหมายในต่างประเทศเพื่อเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในต่างประเทศด้วย
จนกระทั่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษา บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด จำเลยที่ 1 และ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ซึ่งเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท ซิปเม็กซ์ฯ จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พิพากษาลงโทษปรับบริษัท ซิปเม็กซ์ฯ เป็นเงิน 100,000 บาท และลงโทษจำคุกนายเอกลาภ ยิ้มวิไล เป็นเวลา 5 ปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
และทางกลุ่มยังเดินหน้าต่อสู้คดีเรื่อยมาจน อธิบดี DSI มีคำสั่งให้รับ “Zipmax” เป็นคดีพิเศษ โดยมีผู้เสียหายเบื้องต้นกว่า 920 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,019 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารความคืบหน้า ของคดี ผ่านทางเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th หรือทาง Facebook : DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ https://www.facebook.com/DSI2002/ เท่านั้น และหากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ โทร. 02 831 9888 ต่อ 51196 หรือ สายด่วน DSI Call Center โทร. 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ)