ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th
ลี ฟาน นักศึกษาชายวัย 21 ปี โพสต์ข้อความว่า “ไปต่อไม่ไหวแล้ว ฉันขอยอมแพ้” ลงบน Weibo โซเชียลมีเดียของจีน ด้วยครอบครัวติดหนี้สินและเขาต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคซึมเศร้า หลังจากข้อความนี้ถูกโพสต์ เขาพยายามฆ่าตัวตายและหมดสติในหอพักมหาวิทยาลัยหนานจิง ขณะเดียวกัน ข้อความดังกล่าว ถูกตรวจพบด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของโปรแกรม Afar ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่อยู่ห่างออกไปจากจุดเกิดเหตุราว 8,000 กิโลเมตร
และแล้วปาฏิหารย์ก็เกิดขึ้น ผู้ดูแลโปรแกรมจึงติดธงข้อความเพื่อให้อาสาสมัครในประเทศจีนมองเห็นข้อความนั้น อาสาในพื้นที่พยายามติดต่อไปหาลี ฟาน แต่ก็ไม่สำเร็จ พวกเขาจึงตัดสินใจโทรหาตำรวจท้องถิ่นให้เข้าไปช่วยชีวิตนักศึกษาหนุ่มได้ทัน เป็นการทำงานของทีมอาสากู้ภัย Tree Hole ที่อาศัยโปรแกรม Afar ในการตรวจจับข้อความที่ส่งสัญญานเตือนถึงการฆ่าตัวตาย และระงับเหตุได้สำเร็จ
หัวใจสำคัญของ Afar อยู่ที่ระบบ AI ที่คอยตรวจจับข้อความที่ส่อถึงเหตุการณ์ฆ่าตัวตาย และประเมินว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่มากน้อยแค่ไหนที่จะเกิดเหตุได้จริง โดยจัดอันดับข้อความจาก 1 ถึง 10 หากข้อความอยู่ในอันดับที่ 10 คือหมายถึงความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุอยู่ในลำดับสูงสุดและเร่งด่วนที่สุด อาสาสมัครอาจขอความช่วยเหลือจากตำรวจหรือเข้าไปยังพื้นที่เอง ส่วนลำดับตั้งแต่ 6 ขึ้นไป จะหมายถึงมีความเสี่ยงสูง อาสาสมัครจะพยายามติดต่อไปยังผู้โพสต์ ครอบครัว หรือเพื่อนเพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยง
นายฮวง ฉีเชง นักวิจัยระดับสูงของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม เปิดเผยว่า มีอาสาสมัครเข้าร่วมทีม Tree Hole Rescue กว่า 600 คนแล้ว และสามารถช่วยชีวิตผู้คนทั่วประเทศจีนได้ราว 700 เคส ในระยะเวลา 18 เดือนตั้งแต่เริ่มติดตั้งโปรแกรม Afar เฉลี่ยแล้วก็สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 10 คน นอกจากนี้ กระบวนการอาสาสมัครไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือแค่ตอนเกิดเหตุ แต่ยังดูแลและอยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลังจากก่อเหตุด้วย จนแน่ใจว่าพวกเขาจะกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยอีกครั้ง