นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อ 26 มิ.ย.ถึงแนวคิด นำรถยนต์เก่าที่จอดกีดขวางการสัญจรริมถนนทั่ว กทม. ... มองว่าเหล็กของรถเก่าควรนำไปทำเหล็กหลอมรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้ใหม่มากกว่า
เรื่องนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลว่า แผนชาติของสหรัฐอเมริกา ได้ระบุา “วัสดุจำพวกรถยนต์และเครื่องใช้ต่างๆ มีปริมาณมาก แต่วัสดุเหล่านั้นไม่มีความแข็งแรงพอ มีความทนทานและความมั่นคงน้อย ไม่เหมาะจะนำมาสร้างเป็นปะการังเทียม จากพื้นที่การสร้างปะการังเทียมบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก พบว่าไม่มีความมั่นคงในทะเล มีอายุการใช้งานที่ต่ำ เพียง 1-3 ปีเท่านั้น
เรื่องนี้ รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า ตามรายงานของกรมทรัพยากรชายฝั่ง เราควรจะเอาซากรถเก่าไปรีไซเคิล มากกว่าจะมาทำปะการังเทียม เพราะรถยนต์เก่าที่มีโครงสร้างส่วนใหญ่ทำจากเหล็ก ก่อนการดำเนินการจัดวางจะต้องถอดชุดเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ระบบเบรค และชิ้นส่วนต่างๆ เช่น เบาะนั่ง กระจก ล้อ ฯลฯ ออกทั้งหมด โดยเหลือแต่ตัวถัง ส่วนหัวเก๋ง และทำความสะอาดขจัดคราบไขมัน คราบน้ำมันหรือจาระบีที่ติดอยู่กับซากรถยนต์ออกให้หมดก่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับข้อดี
- หาได้ง่าย ราคาไม่แพง และสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ในการเคลื่อนย้าย
ส่วนข้อเสีย
- ต้องใช้แรงงานมากและเสียค่าใช้จ่ายสูงสำหรับการถอดชิ้นส่วนที่ไม่ต้องการออก ตลอดจนการทำความสะอาดขจัดคราบน้ำมันต่าง ๆ
- มีอายุการใช้งานเพียง 1-5 ปีเท่านั้น และดึงดูดสิ่งมีชีวิตพวกเกาะติดและปลาได้ดีในช่วงปีที่ 1-3 เท่านั้น เมื่อย่างเข้าปีที่ 4 โครงสร้างรถยนต์จะเริ่มผุกร่อนและสลายไป
- ไม่มีความมั่นคง และง่ายต่อการเคลื่อนที่โดยพายุ หรืออวนลาก
- ไฟเบอร์กลาส และยางพลาสติกที่ประกอบอยู่กับตัวรถ หากไม่ได้เอาออกก่อนการจัดวางอาจเกิดการหลุดลอยกระจายอยู่ในมวลน้ำได้ เมื่อโลหะมีการกัดกร่อน
ข้อเสนอแนะ
- โครงสร้างรถยนต์ที่จะนำมาจัดสร้างเป็นปะการังเทียม ควรมีการถอดชิ้นส่วนบางอย่างออกก่อน ได้แก่ การถอดชุดเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ระบบเบรก ของเหลวภายในระบบหล่อเย็น อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่สามารถปล่อยสาร Polychlorinated Biphenyls (PCBs) ออกมาได้ และชิ้นส่วนต่างๆ เช่น เบาะนั่ง กระจก ล้อ พลาสติก ฯลฯ และทำความสะอาด ขจัดคราบไขมัน คราบน้ำมันหรือจาระบี ที่ติดอยู่กับซากรถยนต์ด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงในทุกๆ ส่วน เช่น ในถังน้ำมัน สายและปั้มเบรก แกนล้อ ระบบพวงมาลัย ระบบเกียร์ เป็นต้น รวมทั้งการเจาะรูที่ตัวถังน้ำมันเพื่อป้องกันการลอยตัวของวัสดุหลังการจัดวาง
- การนำโครงสร้างเหล็กของตัวถังรถยนต์มารีไซเคิลอาจให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่ากว่าการนำไปจัดวางไว้บนพื้นทะเล ซึ่งจะถูกกัดกร่อนในเวลาไม่กี่ปี
หากมองในแง่การจัดการ รถยนต์เป็นวัสดุหนึ่งที่คล้ายกับวัสดุอื่นๆ ที่ทำจากเหล็ก ซึ่งอาจก่อให้เกิดมูลค่ามากกว่าการนำมาสร้างเป็นปะการังเทียม หากนำไปเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่(รีไซเคิล) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีวัสดุอื่นที่สามารถนำมาสร้างปะการังเทียมแทนรถยนต์ได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลเหล็กนั้นต้องการพลังงานเพียงครึ่งหนึ่ง และต้องการน้ำในปริมาณที่น้อยกว่าเหล็กที่ผลิตมาจากแร่เหล็ก การรีไซเคิลอะลูมิเนียมก็ใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตอะลูมิเนียมจากแร่ bauxite ถึง 90% และโดยเฉลี่ยแล้วยานพาหนะจะประกอบด้วยโลหะที่ทำจากเหล็ก 70.4% โลหะที่ไม่ใช่เหล็กอีก 5.6% และวัสดุอื่นๆ เช่น พลาสติก ยาง แก้ว ของเหลว 24% ทำให้ปัจจุบันมีการนำรถยนต์เก่ามารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มากขึ้น โดยในแต่ละปีมีของเสียจากอุตสาหกรรมยานยนต์ถึง 94% และมีรถยนต์ที่กลายเป็นขยะมากกว่า 10 ล้านตัน