svasdssvasds

ครม.ไฟเขียว ปตท.สผ. - เอ็มพี จี2 ชนะประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ รับสัมปทาน 20ปี

ครม.ไฟเขียว ปตท.สผ. - เอ็มพี จี2 ชนะประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ รับสัมปทาน 20ปี

คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติ รายชื่อผู้ชนะการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แหล่งบงกชและเอราวัณ ในทะเลอ่าวไทย เชื่อว่าจะทำให้ประชาชน ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง และนำรายได้เข้ารัฐ ได้กว่า 1 แสนล้านบาทในช่วง 10ปี

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (จีทู) (ประเทศไทย)จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง เอราวัณ และบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลงบงกช โดยให้กระทรวงพลังงานลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ระยะเวลาสัมปทาน20 ปีและสามารถต่ออายุได้อีก 10ปี

ทั้งนี้เนื่องจากผู้ชนะยื่นข้อเสนอทางเทคนิคผ่านตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนกำหนด โดยผู้ชนะเสนอค่าคงที่ราคาขายก๊าซธรรมชาติ 116 บาทต่อล้านบีทียู ต่ำกว่าราคาก๊าซในแหล่งเอราวัณปัจจุบันราคา 165 บาทต่อล้านบีทียู และในแหล่งบงกชราคา 214 บาท 26 สตางค์ต่อล้านบีทียู เทียบเท่าส่วนลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ 5 แสน 5 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี หรือปีละ 55,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากนำส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทั้ง 2 แปลง มาใช้ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วย อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ผู้ใช้ก๊าซทุกรายที่แบ่งตามสัดส่วนการใช้ก๊าซประหยัดไฟฟ้าเฉลี่ย 17 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3 บาท 60 สตางค์ต่อหน่วย

นอกจากนี้ ผู้ชนะประมูลได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากกว่าร้อยละ 50 มากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้ในเอกสารเชิญชวน โดยแหล่งเอราวัณเสนอผลประโยชน์ให้รัฐร้อยบะ 68 ผู้รับสัญญารับกำไรร้อยละ 32 / แหล่งบงกชเสนอให้รัฐร้อยละ 70 ผู้รับสัญญารับกำไรร้อย 30 ส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมอีก 1 แสนล้านบาท สร้างประโยชน์ให้ประเทศได้รวม 6 แสน 5 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน คาดว่าในช่วง 10 ปีแรก จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทยในสัดส่วนร้อยละ 98 และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจี ได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสน 6 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกกว่า 1 แสน 1 หมื่นล้านบาท

related