นักวิชาการกรมประมงสามารถทำการเพาะพันธุ์ปลาได้สำเร็จอีกหนึ่งชนิด นั่นคือ “ปลาปล้องทองปรีดี” ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นปลาหายากอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หลังใช้ความพยายามมากว่า 12 ปี
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงมีนโยบายในการสนับสนุนงานวิจัยด้านการประมงสาขาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญการสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณภาพสามารถนำไปใช้ประโยชน์และขยายองค์ความรู้สู่เกษตรกรชาวประมงเพื่อร่วมกันพัฒนาภาคการประมงของประเทศได้
ล่าสุด นักวิชาการกรมประมงสามารถทำการเพาะพันธุ์ปลาได้สำเร็จอีกหนึ่งชนิด นั่นคือ “ปลาปล้องทองปรีดี” ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นปลาหายากอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรมลง อีกทั้งยังถูกรุกรานจับขึ้นมาจำหน่ายเพื่อเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ทำให้ปลาปล้องทองปรีดีในธรรมชาติลดจำนวนลงเรื่อย ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กรมประมงต้องเร่งเพาะขยายพันธุ์เพื่อทำการฟื้นฟูและอนุรักษ์ให้ปลาชนิดนี้ยังคงอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และในอนาคตสามารถต่อยอดการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงามสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป
นายประสาน พรโสภิณ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 (เชียงใหม่) หัวหน้าคณะผู้วิจัยเล่าว่า “ปลาปล้องทองปรีดี” เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาค้อ (Balitoridae) มีขนาดเล็กความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว สีสันสวยงาม ลำตัวมีลักษณะคล้ายปล้องอ้อยเรียวยาวสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหรือเหลืองอ่อน และมีลายขวางสีคล้ำลงมาเกือบถึงท้อง พบได้ในประเทศแถบเอเชียสำหรับประเทศไทยพบบริเวณลำธารภูเขาในเขตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม อำเภอเชียงดาว และอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
[caption id="attachment_370626" align="alignnone" width="839"] นายประสาน พรโสภิณ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 (เชียงใหม่)[/caption]
ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้สำรวจชนิดพันธุ์สัตว์น้ำตามโครงการพระราชดำริทุกปีอย่างต่อเนื่อง และพบว่าปลาปล้องทองปรีดีในธรรมชาติหาได้ยากและมีจำนวนลดน้อยลง จึงได้พยายามรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติเพื่อทำการศึกษาทดลองเพาะขยายพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 แต่ในระยะแรกยังประสบปัญหาเนื่องจากปลาไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมของการทดลองได้ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2560 ทางศูนย์ฯ ได้นำไปทดลองเพาะขยายพันธุ์ที่สถานีวิจัยประมงน้ำจืดพื้นที่สูงอินทนนท์ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมและอากาศใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติมากที่สุด โดยคัดเลือกปลาที่มีน้ำเชื้อและไข่สมบูรณ์มาทำการทดลองเพาะพันธุ์ด้วยวิธีฉีดกระตุ้นฮอโมนสังเคราะห์ แล้วปล่อยลงกล่องทดลองให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์แบบธรรมชาติที่อุณหภูมิน้ำ 15.3–16.8 องศาเซลเซียส
ผลปรากฏว่า ปลามีการตกไข่มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และสามารถฟักออกเป็นตัวได้สำเร็จ แต่อัตราการฟักตัวยังค่อนข้างต่ำอยู่มากเพียง 37.13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น รวมถึงการอนุบาลลูกปลาก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการรอดยังต่ำอยู่เช่นกัน ซึ่งได้ผลผลิตเพียง 200 ตัวเท่านั้น จึงต้องมีการพัฒนาขยายผลการศึกษาวิจัยในระยะต่อไปเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากกว่านี้
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า นับเป็นความสำเร็จในความพยายามเพาะพันธุ์ปลาปล้องทองปรีดีของไทยหลังจากที่ทีมนักวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 (เชียงใหม่)ได้ใช้ระยะเวลาในการศึกษาทดลองกว่า 12 ปี ทั้งนี้ กรมประมงมีความคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้ให้สามารถต่อยอดเพื่อขยายผลไปสู่การเพิ่มปริมาณประชากรปลาปล้องทองปรีดีในธรรมชาติให้มีจำนวนมากขึ้น ไม่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย และขยายผลไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อปั้นเป็นปลาสวยงามทางเศรษฐกิจด้วย