ช่วงกันยายน–ตุลาคมของทุกปี ผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูสูงกว่าช่วงอื่นๆ ปีนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา มีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พบว่ามีผู้ป่วยแล้ว 1,822 ราย เสียชีวิต 21 ราย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู ในปี 2561 พบว่ามีผู้ป่วยแล้ว 1,822 ราย เสียชีวิต 21 ราย
จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน สูงสุด 5 อันดับแรก คือ ศรีสะเกษ พังงา ยะลา เลย และระนอง
ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กลุ่มอายุที่พบมากอยู่ระหว่าง 35–54 ปี และส่วนใหญ่อยู่ในอาชีพเกษตร ร้อยละ 48
จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงเดือนกันยายน–ตุลาคมของทุกปี จะมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูสูงกว่าช่วงอื่นๆ โดยในปีนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา มีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดในช่วงฤดูฝน 2 เดือนที่ผ่านมา พบเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตจากโรคไข้ฉี่หนูแล้ว 6 เหตุการณ์”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ ในช่วงนี้คาดว่ามีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ทำให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมหรือน้ำขัง ประชาชนจึงเสี่ยงที่จะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ขณะลุยน้ำ แช่ในน้ำนานๆ หรือย่ำดินโคลนหลังน้ำลด โรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ และปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้น หรือพืชผัก สามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา และจมูก นอกจากนี้ยังสามารถเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มเนื่องจากแช่น้ำอยู่นาน ซึ่งคนมักติดเชื้อทางอ้อมขณะย่ำดินโคลน แช่น้ำท่วมหรือว่ายน้ำ หรืออาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อโดยการกินอาหารหรือน้ำ”
“กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันโรค โดยให้หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์นำโรค หรือถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต หรือใช้ถุงมือยาง เช่น การทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด การทำเกษตรกรรมหรือเลี้ยงสัตว์ หลังจากลงไปในแหล่งน้ำหรือย่ำดินโคลนควรรีบทำความสะอาดร่างกาย กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่และใส่ภาชนะมิดชิด ควรล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน และควรควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน และแหล่งท่องเที่ยว
สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงแช่น้ำ ย่ำดินโคลน หรือบุคคลทั่วไปที่หากพบว่ามีอาการป่วยด้วยไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”