สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต จับมือเอไอเอส จัดโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพและสร้างอาชีพ รายได้ให้ผู้บกพร่องทางสติปัญญาวัย 18-25 ปี ที่ว่างงานคาดทั่วประเทศมีเกือบ 30,000 คน เปิดศูนย์การเรียนรู้สอนปลูกผักอินทรีย์ ปลอดสารพิษ
วันนี้ (13 กรกฏาคม 2561) ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพราชานุกูลที่ ต.บางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญากลับสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในการดูแลสุขภาพผู้ที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาอายุ 18-25 ปี ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านทักษะ และความรู้ ให้สามารถประกอบอาชีพที่เหมาะสม อยู่ในชุมชนได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ที่มีความบกพร่องฯ ให้เป็นประชากรที่มีคุณค่า และมีศักยภาพในการดูแลตนเอง และไม่เป็นภาระของครอบครัว
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ได้ให้สถาบันราชานุกูลพัฒนาพื้นที่ภายในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพราชานุกูล ที่ ต.บางพูน จ.ปทุมธานี ขนาด 14 ไร่ เพื่อใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการทำเกษตรปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์ สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาและครอบครัว ซึ่งจะพัฒนาเป็นโมเดลการฟื้นฟูสมรรถภาพฯแบบครบวงจรด้านการเกษตรของประเทศ โดยเอไอเอส เป็นฝ่ายสนับสนุนด้านความรู้ฝึกสอนทักษะการปลูกผักอินทรีย์ การติดตั้งเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ใช้งานง่าย และการตลาด ความร่วมมือครั้งนี้จะมีผลดีต่อสุขภาพจิตของครอบครัวและผู้บกพร่องฯ ได้ภาคภูมิใจในการผลิตผักหรือพืชผลทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษ สร้างสุขภาพดีแก่คนไทยและต่างประเทศ สามารถปลูกได้ทั้งทำบนที่ดินหรือแบบคอนโดก็ได้ พร้อมต่อยอดเป็นผู้ประกอบการกลุ่มใหม่หรือกลุ่มสตาร์ทอัพของประเทศในอนาคต
ทางด้านแพทย์หญิง มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า จากรายงานของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ล่าสุดในปี 2561มีผู้พิการทุกประเภทที่จดทะเบียนเกือบ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้บกพร่องทางสติปัญญาและกลุ่มออทิสติก 142,085 คน โดยอยู่ในวัยทำงานคืออายุ 15- 60 ปี ประมาณ 50,000คน แต่มีงานทำประมาณ 22,000 คน ส่วนใหญ่รับจ้างทั่วไปและทำงานในภาคเกษตรกร มีรายได้น้อยและไม่มั่นคง ที่เหลืออีก 28,000 คน ไม่มีงานทำหรือทำงานไม่ได้ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บ้าน ทำให้ขาดการฟื้นฟูสมรรถภาพในระยะยาว ขาดโอกาสทางสังคม มีความเสี่ยงเกิดปัญหาอารมณ์และปัญหาพฤติกรรมต่างๆตามมาได้
สำหรับโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญากลับสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนนี้ จะให้บริการผู้บกพร่องฯและครอบครัว ได้เรียนรู้การทำการเกษตรปลอดสารพิษทุกขั้นตอนอย่างละเอียดและเหมาะสมกับบริบทของแต่ละครอบครัว เพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งขณะนี้ผักปลอดสารพิษเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ
โดยผู้บกพร่องจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในชุมชนเช่นการดูแลสุขภาพตนเอง การสื่อสารกับคนอื่น การจัดการอารมณ์ ฯลฯ ใช้เวลาทั้งหมด 12 สัปดาห์ จัดได้ครั้งละ 5 ครอบครัวทั้งนี้ครอบครัวหรือชมรมผู้พิการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาเรียนรู้และจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านในระบบนี้ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทางด้านนายพงษ์ศักดิ์ ตันวิสุทธิ์ หัวหน้าส่วนงานดิจิทัล ฟอร์ไทย บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่าความร่วมมือกับสถาบันราชานุกูลในครั้งนี้ เอไอเอสจะสอนการปลูกผักอินทรีย์ ให้บุคลากรและกลุ่มผู้บกพร่องฯ ตั้งแต่กระบวนการคัดสรรเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม การเตรียมดิน การเพาะปลูก การฉีดพ่นปุ๋ยชีวภาพการป้องกันแมลง รวมทั้งช่วยติดตั้งเทคโนโลยีทางการเกษตร อาทิ ระบบสมองกลสำหรับควบคุมการจ่ายน้ำ การรดน้ำอัตโนมัติ การแจ้งเตือนเมื่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่แปลงเกษตรมีความผิดปกติ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการดูแลยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนช่องทางด้านการตลาด ให้กลุ่มผู้บกพร่อง โดยกลุ่มผู้บกพร่องสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมถึงผักอินทรีย์ ภายใต้โครงการ ปลูกผัก ปลูกรัก ปลูกใจ ซึ่งเอไอเอสได้แนะนำการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้มีความน่าสนใจ เพื่อจัดจำหน่ายผ่าน “ร้านฟาร์มสุข”ซึ่งเป็นร้านค้าต้นแบบในการส่งเสริมการจำหน่ายผักอินทรีย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มผู้บกพร่องฯ และจำหน่ายทางระบบออนไลน์ผ่านทางแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “ร้านฟาร์มสุข” เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และให้กลุ่มผู้บกพร่องสามารถดูแลตนเอง ยืนหยัด และเติบโตในสังคมได้ นอกจากนี้ยังจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มสุข” แหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีทางการเกษตรอัจฉริยะ ประกอบไปด้วย เทคโนโลยีไอโอที (IOT) สำหรับวัดผลสภาพแวดล้อมแปลงเกษตร,เทคโนโลยีควบคุมทางไกลอัตโนมัติ รวมถึงการบันทึก วิเคราะห์ข้อมูล และเฝ้าระวังติดตามสภาพแวดล้อมทางการเกษตร โดยให้ผู้ที่สนใจได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ทดลอง และค้นคว้านวัตกรรมดิจิทัล ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมด้านการเกษตร เป็นแนวคิดภายใต้ “ดิจิทัล ฟอร์ไทย” ที่มุ่งสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศให้ดีขึ้น เพื่อก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างยั่งยืน