รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ระดมสมองหาวิธีการและมาตรการรองรับ หวังแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เกี่ยวกับการวางแผนและปฏิบัติตามแผนการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเกษตรกรรม ว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พบว่าเกษตรกรได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยไม่มีการวางแผนการผลิตทางเกษตรกรรมหรือทำการเกษตรโดยไม่คำนึงถึงความต้องการ (Demand) ของตลาดหรือผู้บริโภคและเมื่อผลผลิตออกมามากล้นตลาด (Over Supply) จนทำให้ราคาตกต่ำและนำมาซึ่งการเรียกร้องหรือกดดันให้รัฐช่วยเหลือในเรื่องการจ่ายเงินชดเชยส่วนที่ขาดทุนหรือการรับจำนำหรือประกันราคาผลผลิตที่ไม่อิงราคาตลาด หรือขอให้ใช้งบประมาณรัฐมาซื้อผลผลิตในราคานำตลาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ รัฐได้ดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนโดยปัจจุบัน ยังมีการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรกลุ่มต่างๆตามฤดูการผลิตตลอดมาเป็นระยะๆ
จึงขอให้ปลัด กษ.และผู้บริหาร กษ.ทุกระดับได้ช่วยกันคิดค้นหรือระดมสมองหรือเชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งนักวิชาการด้านเศรษฐกิจการเกษตรและผู้แทนกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรตลอดจนผู้รู้จากภาคเอกชนมาช่วยกันวิเคราะห์และศึกษาหาวิธีการหรือมาตรการ (Key Solutions) ในการแก้ไขปัญหาการที่เกษตรกรไม่วางแผนหรือไม่ปฎิบัติตามแผนการผลิตจนทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด(Over Supply)อยู่เป็นประจำตามประเด็นสำคัญดังนี้
1.ถ้ากษ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกำหนดแผนการผลิตทางการเกษตรควรกำหนดชนิดหรือประเภทของพืชและหรือปศุสัตว์อะไรบ้างที่ควรบรรจุอยู่ในแผนการผลิตและควรมอบหมายให้หน่วยงานใดหรือควรแต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยใดบ้างให้เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำหรือกำหนดแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมของประเทศ
2.ในแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมข้างต้นควรมีรายละเอียดหรือองค์ประกอบในแผนการผลิตอย่างไรบ้าง
3.ขอให้นำพ.ร.บ. เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ.2522 และพ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายอยู่แล้วมาพิจารณาว่ามีสาระหรือบทบัญญัติที่จะนำมาใช้ดำเนินการจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมได้หรือไม่ รวมทั้งให้ศึกษาว่ามีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะทำให้เกษตรกรปฎิบัติตามแผนการผลิตทั้งนี้อาจนำจุดแข็งและจุดอ่อนของการวางแผนข้าวครบวงจรและหรือการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอ้อยตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาลมาพิจารณาประกอบด้วยก็ได้
4.กษ.ควรกำหนดเงื่อนไขหรือควรจัดบริการใดๆ (Incentives)ให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนหรือแรงจูงใจให้เกษตรกรทำการเกษตรตามแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมอย่างจริงจังต่อไป
ทั้งนี้ ขอให้ปลัด กษ. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาหาแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรกรรมดังกล่าวข้างต้นให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนด้วย